Summary
จากศรัทธาท้องถิ่นของผู้คนในชุมชนบ้านสงเปลือยที่สกลนคร คือการสืบสานประเพณีในการช่วยกันลงแขกเก็บฝ้ายมาถักทอเป็นผืนผ้าให้จบในหนึ่งวันเพื่อทำจุลกฐินในอดีต สู่การย้อมสีเป็นงานฝีมือผ้าฝ้ายทอมือที่สวยงามในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ผ้านุ่ง กระเป๋า เสื้อ จนชุดราตรีผ้าไทยอันงามวิจิตรมหัศจรรย์
การทอผ้าจากคนรุ่นก่อนส่วนใหญ่เกิดจากผลิตเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งลวดลายหรือวิธีการจะแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น สำหรับชุมชนบ้านสงเปลือย ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร จากวิถีชีวิตกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนในนามว่า “ผ้าฝ้ายดอกเปลือย” ที่บอกความเป็นตัวตนได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ชื่อของชุมชนเลยว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับผ้าฝ้ายหรือการทอผ้าแน่ๆ
ยิ่งได้คุยกับ คุณธีระยุทธ คำพูล ผู้ดูแลผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าฝ้ายดอกเปลือย คลิกอ่านเรื่องผู้นำชุมชนคนนี้ ยิ่งพบว่าเสน่ห์ของที่นี่คือความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ซึ่งมาจากกุศโลบายของคนรุ่นก่อน ที่ให้ลูกหลานสืบสานประเพณีวัฒนธรรมในการช่วยกันเก็บผ้าย ถัก ทอผ้า ตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนพลบค่ำให้เสร็จภายในวันเดียวเพื่อถวายเป็นจุลกฐินมาช้านาน
ชื่อและศรัทธานี้…มีความหมาย
เรื่องของผ้าฝ้ายดอกเปลือยถูกเล่าว่า ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นชุมชนบ้านสงเปลือยได้เป็นอย่างดี “เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากศูนย์รวมความรักใคร่สามัคคีของชาวบ้านสงเปลือย” ที่ประกอบอาชีพผลิตผ้าฝ้ายเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้ายเอง เก็บดอกฝ้ายมา “เปลือย” หรือแกะเป็นเส้น จนไปสู่กระบวนการย้อมครามหรือสีที่มาจากวัตถุดิบธรรมชาติในชุมชน แล้วทอออกมาเป็นผืน
โดยเฉพาะการสืบทอดประเพณีในการทำจุลกฐินของบ้านสงเปลือยไม่เหมือนที่ไหน ใช้คนในชุมชนจำนวนกว่าร้อยคน โดยทุกคนต้องใส่ผ้าสีขาวและมีจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อทำผ้ากฐินถวายพระ
ด้วยศรัทธาในการทอผ้าเองแบบที่ต้องไปเก็บดอกฝ้ายกันตั้งแต่ตี 5 นำมาฟอก เข็นฝ้าย แล้วเอามาทอผ้าผืนทั้งหมด 5 ชิ้น เพื่อนำไปทำเป็นผ้ากฐินต่อให้กับวัดในชุมชนต่อไป โดยทั้งกระบวนการต้องทำให้เสร็จภายในเวลาหกโมงเย็นของวันเดียวกัน (จุลกฐินที่บ้านสงเปลือยรอบหนึ่งจะกำหนดทำในวันเดียวกันแบบนี้ไปสามปีติดต่อกัน โดยรอบล่าสุดคือวันที่ 23 ตุลาคมในรอบของปี 2564 2565 และ 2566 ปีนี้นั่นเอง)
ปัจจุบันชุมชนทำผ้าฝ้ายที่บ้านสงเปลือยสืบสานต่อกันมาถึงรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 กันแล้ว โดยจากการบอกเล่าจากคุณยายในรุ่นแรกที่ยังคงทำผ้าต่อเนื่องสำหรับใช้ในวิถีชีวิตประจำวันหรือใส่ไปงานทำบุญที่วัดมาตั้งแต่ครั้งอาศัยอยู่ที่อุบล พอย้ายรกรากมาอยู่สกลนคร ชีวิตยังมีวิถีแบบเดิม เมื่อถึงสมัยรุ่นคุณแม่จึงได้รวมตัวกับคนในชุมชนตั้งเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของชุมชน (OTOP) ตั้งแต่ปี 2546
Suggestion
ภูมิปัญญาท้องถิ่นกลับมา
เมื่อรวมกลุ่มอาชีพคนทำผ้า แต่ละคนต่างกลับไปถามคนในครอบครัวถึงภูมิปัญญาเดิมที่เคยเห็นคุณตาคุณยายหรือพ่อแม่ทอผ้าในตอนเด็กกลับมา แต่ระหว่างทางย่อมต้องเจออุปสรรคกันบ้าง พอผลิตผ้าออกมาโดยยังไม่มีตลาดรองรับ สมาชิกจาก 20 คน เริ่มลดลงไปเหลือเพียงไม่กี่คน
มาเริ่มเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ เมื่อคุณแม่ของคุณธีระยุทธเร่งสปีดเติมความรู้ถ่ายทอดให้กับสมาชิกในกลุ่ม ตั้งแต่การตรวจคัดกรองเส้นใยฝ้ายที่มีหลากหลาย เพื่อให้สามารถแยกคุณภาพของผลิตภัณฑ์ออกและปรับเปลี่ยนวิธีการทำเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าได้ ที่สำคัญคือการตอกย้ำชัดเจนว่า แหล่งปลูกครามที่ดีที่สุดในประเทศไทย คือ สกลนคร ประกอบกับได้รับเมล็ดครามพระราชทาน เลยเกิดการร่วมแรงใจกันในชุมชนมาช่วยกันปลูกทั้งฝ้ายและครามในพื้นที่ของชุมชนเอง
จับมือกันและมีความยืดหยุ่น
เมื่อชุมชนมีวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำเป็นของตัวเอง ก็มีกำลังและความพร้อมที่จะผลิตผ้าฝ้ายแบบ 2 ลักษณะ คือ แบบออร์แกนิกทั้งหมด ซึ่งเป็นการผลิตตามอัตลักษณ์ของผ้าฝ้ายดอกเปลือยทำมือที่ผ้ามีความนิ่มจากฝ้ายและมีความเงาเหมือนผ้าไหม จากสูตรลับใน 11 ขั้นตอนหรือเทคนิควิธีการผลิตที่ได้ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น ส่วนอีกแบบ คือ การนำเส้นใยฝ้ายผสมกับเส้นโพลีเอสเตอร์
“ผ้าฝ้ายดอกเปลือยสามารถปรับเปลี่ยนอารมณ์ของผ้าตามความต้องการลูกค้าได้ทั้งหมด ทั้งความนิ่มของผ้า รวมถึงการเพิ่มหรือลดเฉดสีของผ้าแต่ละผืนโดยใช้เมล็ด แก่น ต้น ใบของพืชพรรณที่อยู่ในป่าชุมชนทั้งหมด เพียงเข้าใจหลักการทำสีธรรมชาติที่ต้องดูเรื่องค่าของ กรด ด่าง และเบส ซึ่งมีส่วนให้สีเข้มขึ้นหรืออ่อนลง รวมทั้งสามารถหาวิธีผลิตให้ทันกับออร์เดอร์จำนวนมากที่เข้ามา”
สร้างความเข้าใจเป็นภาพเดียว
ชุมชนบ้านสงเปลือยกับการทำผ้าฝ้ายดอกเปลือยมาถึงรุ่นที่ 3 โดยคุณธีระยุทธได้เพิ่มเรื่องของการตลาดและกระจายช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแต่สิ่งที่สำเร็จเป็นการเลือกใช้วิธีสร้างความเข้าใจในทิศทางเดียวกันให้กับชุมชนเห็นเป้าหมายเดียวกัน
“จากปลูก เก็บ เกี่ยว หมัก ย้อมสี ทอเอง และเมื่อชาวบ้านในชุมชนเริ่มเห็นผลว่า ผ้าฝ้ายดอกเปลือยสร้างรายได้จนเป็นอาชีพได้ ทำให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากที่เดิมออกไปหางานนอกชุมชนหรือเข้ากรุงเทพฯ หรือทำสวนทำไร่ที่เคยเป็นอาชีพหลัก ตอนนี้ก็กลายเป็นอาชีพรองแทน”
ส่วนหนึ่งชุมชนได้รับโอกาสใหญ่แบบที่ได้รับออร์เดอร์จาก คิง เพาเวอร์ ให้งานฝีมือทอผ้าของบ้านสงเปลือยเป็นที่รู้จักกับนักท่องเที่ยวนานาชาติ ต่อเนื่องมา 8 ปีแล้ว และเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นทุกคนช่วยกันย้อมครามทุกวัน วันละ 20 กิโลกรัม ด้วยถัง 200 ลิตร จำนวน 20 ถัง ช่วยให้ชาวบ้านเกิดแรงฮึดและสามัคคีกันมากขึ้น
เปิดใจและจับมือรับสิ่งใหม่ด้วยกัน
จากผ้าพื้นถิ่นในวิถีสู่สายตาชาวโลกได้ถึงปัจจุบันนี้ ยอมรับว่าถ้าชุมชนบ้านสงเปลือยไม่เข้มแข็งและไม่เกิดความร่วมมือร่วมใจกัน ผ้าฝ้ายดอกเปลือยคงไม่เป็นที่รู้จักมากขึ้น และเพราะทุกคนเปิดใจและกล้าที่จะลองผิดลองถูกเริ่มต้นทำ ปรับจูน แก้ไข ปรึกษา แนะนำกัน จึงไม่ต้องสงสัยในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
นอกจากนั้นทาง คิง เพาเวอร์ ยังมีส่วนกระตุ้นและสนับสนุนให้สมาชิกต่างเปิดรับการทำกิจกรรมหรือสะสมความรู้เพื่อมีอาวุธติดมือมากลับมาผลิตสินค้าชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การแนะนำ อบรมพัฒนาเรื่องตลาด การทำรูปภาพ ทำออนไลน์จนชุมชนมีเพจเป็นของตัวเอง จนถึงวันนี้จากที่บางคนอาจหลงลืมหรือไม่ให้ความสำคัญกับการสืบทอดภูมิปัญญาชุมชนเก่ามาก่อน กลายเป็นเต็มใจช่วยกันพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่จนมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
Suggestion
เบื้องหลังความเข้มแข็งและการสามัคคีชุมชนบ้านสงเปลือย
ทุกวันนี้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีโดยมีรายได้จากการทำผ้าฝ้ายดอกเปลือย แม้จะไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่ความสุขจากเวลาและความสามารถในการดูแลครอบครัวได้คือสิ่งที่มีค่า ที่สำคัญยังเริ่มมีคนรุ่นหลังมาช่วยกันทอผ้ามากขึ้นและกำลังสานต่อไปยังรุ่นที่ 4 กันแล้ว
ชุมชนบ้านสงเปลือยน่าจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ได้เห็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับการปรับตัวและเปิดใจเพื่อรับสิ่งใหม่ในการพัฒนาสินค้าชุมชนไปด้วยกัน แต่ทั้งหมดนี้ก็เพราะได้รับการหล่อหลอมให้รักใคร่สามัคคีกันจนถือเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งในระดับหนึ่งทีเดียว
ผ้าฝ้ายดอกเปลือย (ชุมชนบ้านสงเปลือย)
ที่ตั้ง : 169 หมู่ 4 ต.ไฮหย่อง อ.พังโคน จ.สกลนคร 47160
Facebook: PHAYDOKPLUI
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: PHAYDOKPLUI
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา
ปักหมุดจุดเช็กอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง
• คนสร้างเมือง พันนาบุรี แลนด์มาร์กใหม่ หลายคนให้นิยามว่าเหมือนบาหลีบ้าง เมียนมาบ้าง มีบรรยากาศโดยรอบให้ถ่ายรูปสวยๆ หลายมุม และยังเป็นแหล่งร่วมคาเฟ่ ร้านอาหาร และจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองมากมาย
• ฟาร์มสุขคาเฟ่ อยู่ใกล้ชุมชนบ้านสงเปลือย บรรยากาศน่านั่ง น่าถ่ายรูป เพราะจะได้สัมผัสธรรมชาติโดยมีสะพานให้เดินถ่ายรูปท่ามกลางบรรยากาศทุ่งนา อาหารอร่อย
• ผ้าย้อมมูลควาย บ้านนาเชือก แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแห่งใหม่ที่ไม่ไกลจากชุมชน สัมผัสวิถีชีวิตของคนเลี้ยงควาย สปากระทะ รวมถึงมีอาหารอีสานพื้นบ้านให้เลือกชิมท่ามกลางวิวริมเขื่อนน้ำอูนที่สวยงาม