Playground

คึมมะอุ-สวนหม่อน
“หมู่บ้านที่โพกผ้าไหมไปทำนา”

วันเสาร์ มณฑาจันทร์ 29 Sep 2022
Views: 4,466

“สมัยก่อนหนูยังได้นอนเปลที่ผูกจากผ้าขาวม้าเลยนะคะ”

ฟังคำบอกเล่าผ่านๆ หูไป เหมือนไม่มีอะไร…แต่…เดี๋ยวนะ! เมื่อกี้เพิ่งบอกว่าผ้าขาวม้าของที่นี่เป็นผ้าไหมไม่ใช่หรือ??!! “ใช่ค่ะ ก็บ้านเราสาวไหมเอง ทอเอง คนอื่นอาจมองว่าไหมมีราคาและทำยาก แต่เราใช้ไหมในชีวิตประจำวันมาตลอดเลยไม่รู้สึกแปลก”

คุณหนึ่ง-นุชนารถ พรหมชัยนันท์ ทายาท “วันเพ็ญไหมไทย” แห่งบ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน อำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา ย้ำอีกทีว่าผ้าไหมมีคุณสมบัติพิเศษ เวลาอากาศหนาวมันช่วยทำให้อุ่น แต่พอเข้าหน้าร้อนกลับระบายอากาศให้เย็นสบาย “พ่อใช้ผ้าไหมโพกหัวไปไถนาด้วยค่ะ เคยถามพ่อ เขาบอกให้มันช่วยซับเหงื่อจะได้ไม่ไหลเข้าตา เราก็ไม่ได้มองว่ามันสวยเลย”

อืมมมมม ใช้ผ้าขาวม้าไหมโพกหัวทำนา ถ้าพวกเขาเดินตามๆ กันมาเป็นแถวๆ เข้าข่าย Farmer Fashion Week ได้เลยนะเนี่ย!!!

 

 “คึมมะอุ-สวนหม่อน”

เมื่อก่อนพื้นที่ “คึมมะอุ-สวนหม่อน” เป็นหมู่บ้านเดียวกัน มีถนนผ่ากลางหมู่บ้าน พอผู้คนเริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ ก็แยกเป็นสองหมู่บ้าน ยึดฝั่งซ้าย-ขวาของถนนใช้ถนนเป็นพรมแดน เข้าใจง่ายดี หมู่บ้านหนึ่งชื่อ คึมมะอุ เป็นชื่อที่ตั้งมาตั้งแต่แรกก่อตั้งสร้างชุมชน มีความหมายว่า ความอุดมสมบูรณ์ ส่วนอีกหมู่บ้านที่แยกอยู่อีกฝั่ง คือ สวนหม่อน เพราะมีต้นหม่อนเยอะมาก

“แม่ใหญ่ (คำอีสานใช่เรียกย่าและยาย) เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนไม่มีเสื้อผ้าขาย เวลาว่างจากทำไร่ทำนาที่เป็นอาชีพหลัก เราก็ทอผ้าใส่เอง ได้ไข่ไหมมาจากกรมหม่อนไหม เอามาเลี้ยงไหม สาวไหม ฟอก ย้อม ไปจนถึงกระบวนการทอ ส่วนมากเป็นผ้าถุง โสร่ง ไว้สำหรับนุ่ง”

ราว 30 ปีที่แล้ว แม่วันเพ็ญ แสงกันหา (ภาพถัดไป) คุณแม่ของคุณหนึ่ง ซึ่งมีฝีมือทอผ้าเป็นที่เลื่องลือ แม่ทอผ้าไว้เยอะเกินใช้เองจึงลองนำไปขายให้คุณครูที่โรงเรียน ปรากฏว่าขายดีมาก จนทำคนเดียวไม่ไหว

“แม่เลยไปหาป้าๆ ในหมู่บ้าน บอกเขาว่าตอนนี้บรรดาครูอยากได้ผ้าไหมเพิ่ม แต่ตัวแม่เองทอไม่ไหวแล้ว มารวมกลุ่มทำกันไหมแล้วจะเอาผ้าไปขายให้ แรกเริ่มเดิมทีมีแค่ 25 คนค่ะ จนปี พ.ศ. 2542 ก็ได้ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อนอย่างเป็นทางการ แล้วมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้มีราวๆ 130 คน”

แม่วันเพ็ญรับบทบาทประธานวิสาหกิจชุมชน แต่พอไปออกงานขายผ้าไหมบ่อยๆ คนจะรู้จักในนามวันเพ็ญ แบรนด์วันเพ็ญไหมไทยจึงเกิดขึ้นตามมา

 

“พากันเฮ็ด…เดี๋ยวมันซิเสีย”

เดิมทีชาวบ้านคึมมะอุ-สวนหม่อนทอผ้าไหมเพื่อสืบทอดสิ่งที่พ่อแม่สั่งสอนกันมา คนเฒ่าคนแก่เคยพูดไว้ว่า “สูก็พากันเฮ็ดไว้ บ่สั้นมันซิเสีย” หมายความว่า ให้ทอผ้ากันต่อไปด้วยนะ ไม่อย่างนั้นมันจะสูญหาย แต่พอจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน มีการทำการตลาดดีขึ้น สร้างรายได้จากการทอผ้าเป็นกอบเป็นกำ ทุกคนก็หันมาให้ความสำคัญกับการทอผ้ามากขึ้น “ยายๆ ส่วนมากไม่ได้เรียนหนังสือ จึงรู้สึกว่าคนรุ่นพ่อแม่ของยายเป็นผู้ให้อาชีพนี้มา พอมันขายได้ราคา เขาก็เลยอยากส่งต่อการทอให้ถึงลูกหลาน”

อัตลักษณ์อันเลื่องชื่อ คือ “ผ้าถือไหม” เป็นผ้าพันคอหรือผ้าคลุมไหล่ลายตารางเหมือนขาวม้าแต่ทอจากไหม 5 สี “เป็นผ้าที่ทุกบ้านต้องมีค่ะ 5 สีนั้นก็มี สีเขียว ดำ แดง ขาว และเหลืองส้ม ชาวบ้านเชื่อว่า สีเขียวหมายถึง ต้นข้าวที่งอกงามอุดมสมบูรณ์ สีขาว คือ ความศรัทธาในศาสนา สีดำแทนความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาในหมู่บ้าน สีแดงมาจากสีดินแดงในหมู่บ้าน และสีเหลืองส้ม คือ สีรวงข้าวที่พร้อมจะเก็บเกี่ยว ผ้าถือไหมใช้โพกหัวทำงานก็ได้ เวลามีงานบุญหรือไปวัดไปวา แม่ๆ ก็ใช้ผ้าถือไหมพาดเบี่ยงเป็นสไบ” และถ้าทอให้เป็นผืนใหญ่มีหน้ากว้างเกินผ้าพันคอ สามารถนุ่งเป็นโสร่งหรือนำไปผูกเปลเลี้ยงเด็ก แบบที่คุณหนึ่งเคยนอนมาก่อนนั่นเอง

ผ้าถือไหมได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) ในนาม ผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย มาทั้งชื่อหมู่บ้าน ทั้งชื่ออำเภอกันเลยทีเดียว

แถมแม่ๆ ยังได้ประยุกต์ใช้สีเดิมนั่นล่ะ แต่ทอลายยกดอกลงไป เวลาเก็บลายเขาจะนับเป็นตัวเลข เช่น 34 32 12 14 12 32 34 14 อารมณ์เหมือนโน้ตดนตรี ผืนผ้าจะมีการยกนูนขึ้นเป็นคลื่นๆ  เขาเลยเรียกผ้าว่า “ผ้าขาวม้าไหมลายโน้ตดนตรี” (ภาพถัดไป) ทำยากขึ้น เพิ่มมูลค่าในราคาผ้าสูงขึ้นไปอีก

“ผ้ามัดหมี่ลายขอนาคน้อย ก็อีกลายหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน มีกันทุกบ้านค่ะ เวลามีงานก็จะเห็นแม่ ๆ ใส่ซิ่นไหมมัดหมี่ลายขอนาคน้อยกันแทบทุกคน เป็นความเชื่อโบราณว่า ถ้ามีลายพญานาคจะช่วยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำ มีท่า เกือบทุกบ้านมัดหมี่ลายนี้ได้ แต่ไม่ได้สวยและประณีตทุกคนนะคะ”

“ให้แม่เฮ็ดแหน่ แม่สิบ่มีแฮงแล้ว”

“ชาวบ้านส่วนมากจะเลี้ยงไหม แต่บางคนก็ไม่ทอผ้า เขาจะเอาเส้นไหมมาฝากขายที่กลุ่ม กลุ่มก็ซื้อเส้นไหมเอาไปให้สมาชิกที่ไม่ได้เลี้ยงไหม บางคนทำแค่ย้อมเส้นไหมหรือบางคนปลูกใบหม่อนเท่านั้นก็ขายได้ จะทำขั้นตอนไหนก็ได้แล้วเอามารวมกันเพื่อทอเป็นผืนผ้า”

ชาวบ้านคึมมะอุ-สวนหม่อนโดยปกติแล้วจะใช้ไหมที่เขาเลี้ยงเอง พอต้องทอผ้ามากขึ้นก็เริ่มผลิตกันไม่ทัน และถึงแม้จะทอผ้ากันจริงจังแล้ว แต่การลงนา เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ก็ต้องทำด้วย บางเวลาถึงขั้นไหมขาดกันเลย “ก็ต้องไปซื้อจากชาวบ้านที่อื่น บางทีก็ถามไปยังเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ เช่น ถามไปทางขอนแก่นว่ามีไหมพอจะขายเราได้ไหม เป็นต้น”

กี่ทอผ้าที่ใช้ก็ยังทอด้วยมือ ต้องใช้แรงเหยียบ ต้องใช้แรงมือสอดกระสวย ให้แรงมือดึงกระทบ ผ้าทั้งผืนก็อาจจะไม่เนียนเท่ากันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละผืนไป

“แม่เล่าให้ฟังว่า คุณทวดทางพ่อทอผ้าไหมสวยมาก แม่ก็ทันได้เรียนรู้มาด้วย สมัยนั้นนะถ้ามัดหมี่ไม่ถูกวิธีจะโดนตีมือ แล้วมัดใหม่จนกว่าจะถูกต้อง ลุกหนีก็ไม่ได้ด้วยนะ แต่ผลก็คือ แม่วันเพ็ญมัดหมี่สวยมาก แล้วสอนต่อกับเพื่อนๆ ป้าๆ ที่ทำอยู่ในปัจจุบันต่อ เพราะแม่ไม่ค่อยได้ทอแล้ว ไปออกงานและไปขายผ้าเสียมากกว่า”

ฟังเล่ามาแบบนี้ ใช่ว่าคนทำผ้าไหมได้จะมีแต่ผู้หญิง ผู้ชายหมู่บ้านนี้ก็อยู่กับผ้าไหม เห็นเขาทำมาตลอด เวลาขาดแรงงานก็ต้องช่วยมาตลอด เอาเป็นว่าเรี่ยวแรงหลักในการทอผ้า คือผู้หญิง แต่ผู้ชายต้องพร้อมเข้ามาช่วยได้ทุกกระบวนการ กลับกัน…แม่ๆ ทั้งหลายก็ต้องไปช่วยผู้ชายทำนาด้วย เมื่องานเกษตรต้องการความช่วยเหลือ

“ลูกหลานหลายบ้านก็ไม่ให้คนแก่ทอแล้วกลัวจะปวดขา ยายบางคนอายุ 80 กว่า ก็มาขอทำนะ แกว่า…ให้แม่เฮ็ดแหน่ แม่สิบ่มีแฮงแล้ว แม่ต้องเฮ็ด…พอไม่ได้ทำแล้วเหมือนจะไม่มีเรี่ยวมีแรง แต่ลูกหลานก็ไม่อยากให้ทำ เพราะถ้ายายเกิดปวดแข้งขาขึ้นมาต้องไปหาหมอยุ่งยากกว่าเดิมอีก  ก็เลยให้ยายฟั่นชายผ้าคลุมไหล่ที่มันรุ่ยๆ อยู่ ให้ดูเรียบร้อยสวยงาม”

ส่วนเด็กๆ จะไปช่วยพ่อแม่ทุกขั้นตอน โดยเฉพาะงานเก็บใบหม่อนมาเลี้ยงตัวไหม “เราดัดแปลงรถมอเตอร์ไซค์พ่วงที่นั่งด้านข้างให้กลายเป็นรถซาเล้ง ใช้สำหรับขี่ไปเก็บใบหม่อน เด็กๆ พวกนั้นอยากไปช่วยเก็บจริงๆ หรืออยากไปนั่งรถเล่นก็ไม่รู้นะคะ”

ค่อยๆ ขยับไปทีละหน้าที่ จนวันหนึ่ง แม่ๆ ป้าๆ ที่ทอผ้าสวยๆ ก็จะถ่ายทอดวิชาให้กับเด็กๆ เหล่านั้นแน่นอน

 

“ใครสั่งก็ไม่รู้ กลัวโดนหลอก”

คุณหนึ่งร่ำเรียนด้านวิทย์-คณิตมา ไม่ได้เดินทางสายอาร์ต แต่มาอยู่กับงานผ้าไหมในฐานะผู้ติดต่อการขายให้ยายๆ ป้าๆ พร้อมพ่วงตำแหน่ง QC ตรวจตราความเรียบร้อยของงานให้กับทุกคน “ชอบผ้าไหม ชอบเสน่ห์ของผ้า อยู่คนที่ทำผ้ามันดีมากๆ ค่ะ หนึ่งชอบฟังย่าๆ ยายๆ เล่าเรื่องสนุกๆ ให้ฟัง”

หลังจากที่แม่วันเพ็ญนำผ้าไหมไปคัดสรรเป็น OTOP Select ก็มีคนติดต่อให้นำผ้าไปให้ดู เพราะเขาอยากสั่งไปขาย “ตอนนั้นหนูเพิ่งเรียนจบ ยังไม่ได้ช่วยเต็มตัว เชื่อไหมคะ ขนาดเขาโทร.มาหาแม่เอง ก็ยังไม่ส่งของไปให้เขาดูเลย…กลัวจะถูกหลอก!!!” ตามกันอีก 2-3 เดือน ส่งรายละเอียดกันหลายครั้ง สมัยนั้นยังส่ง Fax กันอยู่เลย “ในที่สุดก็นำของไปให้เขาดู แล้วเขาก็สั่งผ้าคลุมไหล่ ผ้าถือไหม ไปขาย สั่งเยอะด้วยนะเป็น 50 เป็น 100 ผืนเลย จนวันนี้ชาวบ้านบางคนก็รู้แค่มีบริษัทหนึ่งสั่งของมาเรื่อยๆ เขาไม่รู้หรอกว่านั่นน่ะ คิง เพาเวอร์”

ผลิตภัณฑ์มีทั้งแบบที่ขายในร้านตามสนามบินและที่ขายออนไลน์ ซึ่งผ้าที่นำไปตัดเป็นเสื้อคลุม นำไปตัดเป็นกางเกงกระโปรง ก็เป็นผ้าที่มีไม่กี่ชิ้น ทุกงานเกือบจะเป็นหนึ่งเดียวในโลก “ต้องกลับไปอ้อนป้า ๆ ว่าอยากได้สักสองชิ้น ทำสองชิ้นให้หน่อยได้ไหม ซื้อขนมไปฝากบ้าง เอาคำชมจากลูกค้าไปเล่าให้ฟังบ้าง ป้าใจอ่อนก็บอกจะลองทำดู แต่…ค่อย ๆ เฮ็ดไป อย่ามาเร่งหลายมันเมื่อย…จี้ให้ทำเร็ว ๆ ไม่ได้นะคะ คนทอผ้าที่นี่เป็นศิลปิน!”

วันเพ็ญไหมไทยทุกวันนี้ไม่ได้ขายเฉพาะผ้าของหมู่บ้านตนเองเท่านั้น  บางทีก็กระจายไปหมู่บ้านข้าง ๆ เพราะทุกคนทอผ้าเหมือนกัน และความถนัดของแต่ละบ้านก็ไม่เหมือนกัน ถือเป็นการกระจายรายได้ไปหาญาติๆ กันเองนั่นล่ะ

ถามว่าการทอผ้าไหมจะยังมีคนสืบทอดต่อไปไหม คุณหนึ่งตอบเร็วว่ามีคนทำแน่ ๆ “เวลากลับจากออกร้านหนูก็ไปคุยกับชาวบ้าน มันก็เหมือนได้แรงใจกลับคืนมาตลอด เพราะหนูเห็นความตั้งใจในการย้อม การทอของคนที่บ้าน เรียกว่าผ้าไหมเป็นชีวิตของเขาก็ว่าได้ หนูก็ต้องทำงานเพื่อเขาต่อไป”

แหมมม…คุยจบแล้ว อยากให้ทุกคนได้มาเห็นคนโพกผ้าไหมไปนาเสียจริง

 

วันเพ็ญไหมไทย (WANPEN THAISILK)

ที่ตั้ง : กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อน 62/1 หมู่ 3 ตำบลหนองหว้า อำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา 30120

 

Facebook : WANPEN THAISILK

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: WANPEN THAISILK

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• โฮมสเตย์บ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน มานั่งรถสามล้อเครื่องพ่วงข้างตะลอนเที่ยวในหมู่บ้าน ไปเรียนรู้การทอผ้าและการสาวไหมแบบดั้งเดิม ทำเล่นๆ เขาก็บอก เรียนทำจริงๆ เขาก็สอน นอนที่บ้านแม่ๆ คนทอผ้าได้เลย อย่าพลาด ต้มยำไก่ใส่ใบหม่อน อร่อยมาก!

• น้ำผุด ปากช่อง บ่อน้ำพุธรรมชาติเป็นตาน้ำที่มีน้ำไหลมาตลอดปี น้ำใสสีเขียวอมฟ้ามองเห็นพื้นด้านล่าง ใครไปใครมาก็อดใจลงแหวกว่ายไม่ไหว

• ผาเก็บตะวัน วังน้ำเขียว อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน มากางเต็นท์ แคมปิง ดูพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้ามีสายหมอกมาทักทายทุกวัน ถ้าช่วงฤดูฝนมีสิทธิ์ได้เห็นทะเลหมอกกว้างไกลสุดตา พร้อมกิจกรรมสุดเท่ “ปลูกป่าด้วยหนังสติ๊ก” วิธีปลูกป่าแบบนี้ได้ผลประมาณ 80% เลยทีเดียว

Author

วันเสาร์ มณฑาจันทร์

Author

นักเขียนอิสระ แม้จะร่ำเรียนมาทางด้านภาพยนตร์แต่นอกจากถ่ายภาพและเขียนหนังสือแล้ว ยังสนใจเรื่องการทำอาหารและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากเป็นพิเศษ