Product

“1000 ทาง” งานคราฟต์
เครื่องประดับจากการเดินทาง

ธิติวลัย ศรีแหลมทอง 20 Jan 2025
Views: 543

Summary

1000 ทางคืองานฝีมือจากหลากเส้นทางของการเดินทาง สู่เครื่องประดับที่บอกเล่าเรื่องราวได้อย่าง “มีสีสันจุดเริ่มต้นของความชอบงานฝีมือที่หลากหลายนำมาผสมผสานเป็นหนึ่งเดียว กลายเป็นที่มา ของเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ด้วยสไตล์ที่โดดเด่น แปลกตา มีเสน่ห์โดนใจ ด้วยหินสี ลูกปัด การร้อยเชือก…และช้างไทย

เพราะการเดินทางหลากหลายเส้นทางได้อินสไปร์ให้เกิดแบรนด์1000 ทาง” อย่างแท้จริง แบรนด์ที่ คุณต้าร์ วิชชุตา ณ ป้อมเพชร์ เจ้าของแบรนด์ เล่าให้เราฟังว่า ก่อนที่จะมาทำแบรนด์นี้เธอเคยเป็นครีเอทีฟบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง ซึ่งทำงานจนรู้สึกอิ่มตัว เครียด งานเยอะ และมีความกดดันค่อนข้างสูง ทำให้อยากจะออกมาทำอะไรเป็นของตัวเอง

เรื่องราวเรียบๆ ที่คล้ายจะเหมือนทั่วไป กลับไม่ธรรมดาด้วยไอเดียจากความชอบทำเครื่องประดับและความรักการเดินทางของเธอแบบเข้มข้น จึงทำให้เครื่องประดับที่เกิดขึ้นจากสายตาของคนรักเครื่องประดับอย่างแท้จริงนี้น่าสนใจไม่น้อย… “ไปไหนเห็นอะไรสวยก็ซื้อนู่นซื้อนี่มาทำเป็นเครื่องประดับ ลองขายคนรอบตัว พอขายได้ก็เลยเกิดไอเดียว่าเปิดร้านดีกว่า”

เวลานั้นคุณต้าร์ลาออกจากงาน ตัดสินใจเปิดร้านเล็กๆ แถวหลังสวน ในเวลาที่ย้อนกลับไปไกลถึงเมื่อ 20 กว่าปี ซึ่งเธอเปิดร้านครั้งแรกนั้น ใช้สไตล์เครื่องประดับที่เป็นของแอนทีคเก๋ๆ แบบไม่ซ้ำใคร บางชิ้นเป็นสร้อยที่มีแค่เส้นเดียว จึงทำให้ผลตอบรับดีมาก  “สมัยนั้นเป็นยุคก่อนปี 2540 เศรษฐกิจค่อนข้างดี พอลูกค้าเห็นเครื่องประดับของเราจากแมกกาซีน จากในทีวี ลูกค้าก็มาซื้อตาม แล้วบอกกันปากต่อปาก”  เพราะทุกชิ้นมีสตอรี่ มีความสวยแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นงานหิน งานพลอย งานไพลินรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เหมือนใคร

 

งานฝีมือ “ตามใจ” คนซื้อ

จุดขายในเวลานั้นสำหรับแบรนด์ 1000 ทาง คือการทำโพรดักต์แบบ “Made to Order” แบรนด์ ใช้วิธีให้เด็กประจำร้านไปนั่งร้อยสร้อยต่างๆ จัดทำสินค้าให้ลูกค้าได้เลือกตามความชอบความต้องการของเขาเลย  “ตอนนั้นลูกค้าทั้งนักท่องเที่ยว และคนไทยชอบกันมาก เพราะได้สนุกกับการเลือกหิน เลือกพลอยสีต่างๆ มาร้อยในแบบที่ชอบ ในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งพวกหิน พลอยสีเทียบเท่า เราจะไปคัดมาจากตามประเทศต่างๆ อย่างอินเดียและจีน ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นของแปลกใหม่ และไม่ค่อยมีคนทำ”

 

เกิดจากการเดินทาง…เพื่อนักเดินทาง

พอหลังปี 2540 เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งแรกที่ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัว “ช่วงนั้นลูกค้าเริ่มหาย เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี สินค้าของเรามีราคาค่อนข้างสูง เลยเริ่มมีไปฝากขาย ตามร้านเสื้อผ้าแบรนด์ไทยเก๋ๆ ในยุคนั้นบ้าง” แต่ถึงยังไงก็ยังรู้สึกว่าไปต่อได้ยาก

“ความรู้สึกในตอนนั้นก็คิดว่า ถ้าตลาดภายในบ้านเราทำลำบาก อีกตลาดที่ยังไปได้ดีอยู่ก็คือ ตลาดของนักท่องเที่ยว” คุณต้าร์จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานของ 1000 ทาง เพื่อปรับตัวครั้งใหม่ แต่ยังคงดีเทลความเก๋เอาไว้อยู่เช่นเดิม แล้วมุ่งหน้าเข้าตลาดนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ซึ่งในยุคก่อนโลกดิจิทัล เทรนด์แฟชั่นต่างๆ ยังไม่เปิดกว้าง ลูกค้าส่วนใหญ่จะอินกับเครื่องประดับ ที่เป็นของแท้ ของแอนทีค แต่กับเครื่องประดับที่เป็นงานฝีมือก็จะไม่ค่อยมีคนทำ เลยไม่เป็นที่นิยม แต่ถึงอย่างไรคุณต้าร์ก็ไม่ถอย ยังคงเดินหน้าให้ “1000 ทาง” ทำให้ตลาดนี้เติบโตให้ได้

ความที่ชอบเดินทางของคุณต้าร์ ที่ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็จะคอยซื้อลูกปัดเก่า หินสีต่างๆ มาเก็บไว้ รวมถึงการไปซื้อวัตถุดิบเพิ่มจากแหล่งต่างๆ นำมาผสมผสานจนออกมาเป็นผลงานจาก “1000 ทาง”  ที่เครื่องประดับแต่ละชิ้น เหมือนเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของเเหล่งที่มา บวกกับความเป็นไทย จนกลายเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว

“เราตามหา Duty Free ทุกแห่งเพื่อที่จะนำของไปลง ซึ่งตอนนั้น คิง เพาเวอร์ เพิ่งเริ่มเปิดทำการใหม่ๆ และเปิดโซนสินค้าใหม่ขึ้น 1000 ทาง จึงได้รับการติดต่อกลับมาให้เราลองนำสินค้าไปวางขายดู”

นอกจากนี้ในการออกแบบสินค้าแต่ละชิ้น คุณต้าร์ยังนึกถึงความชอบเครื่องประดับที่หลากหลายนับตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่อีกด้วย “ต้องตอบโจทย์ได้ทุกวัย” นับเป็นความตั้งใจของ “1000 ทาง” ที่จะมีผลงานสำหรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย “ทุกคนสามารถเลือกซื้อสินค้าเราได้ ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ หรือเรื่องของราคาที่เราทำให้ทุกคนจับต้องได้ ไม่ว่าจะสวมใส่เอง หรือซื้อไปเป็นของฝาก”

 

ความพอใจของลูกค้ามาเป็นอันดับหนึ่ง

หลังจากลองผิด ลองถูก จับทิศทางของตลาดมานับสิบปี “1000 ทาง” ก็ตัดสินใจสร้างสินค้า สไตล์ใหม่ที่ยึดคติว่า ลูกค้าทุกคนต้องได้สินค้าที่พอใจ…ทำให้ลูกค้าพอใจที่สุด โดยใช้มาตรฐานของตัวเจ้าของแบรนด์เองเป็นที่ตั้งว่าของชิ้นนั้นเราต้องรู้สึกชอบ รู้สึกสวย และอยากได้ เพราะถ้าเรายังไม่ชอบ ไม่อยากได้ ลูกค้าจะอยากซื้อได้ยังไง

“ด้วยความที่เราทำสินค้าส่งออก เลยอยากให้ลูกค้าทุกคนได้ของที่พอใจ ต้องทำให้เต็มที่ ทำให้ลูกค้าพอใจ ถ้าเราไม่อยากใส่ คนก็ไม่อยากใส่ พยายามใส่ของที่หาซื้อไม่ได้ง่ายๆ ตามท้องตลาด ใช้ประสบการณ์ที่เคยทำงานให้กับแบรนด์ใหญ่ๆ มา จึงพบว่าแบรนด์ต้องสร้างความแตกต่าง…ไม่อย่างนั้น เราก็จะขายไม่ได้”

เสน่ห์ช้างไทยช่วยให้งานคราฟต์ยิ่งน่าสนใจ

ถึงไอเดียหลักจะมาจากการเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ แต่แน่นอนว่าเอกลักษณ์ของความเป็นไทยก็ยังเป็นจุดขายที่ดึงดูดความสนใจของลูกค้าเป็นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าจีน หรือญี่ปุ่น ที่ชื่นชอบความเป็นไทยมาก จึงทำให้ 1000 ทาง หยิบเอา “ช้าง” มาเป็นลูกเล่นสำคัญต่างๆ สำหรับโพรดักต์ของแบรนด์ด้วย

“เพราะช้างคือเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ต่างชาตินึกถึงประเทศไทยสิ่งแรกที่เขานึกถึงก็คือ ช้างนี่แหละ” สินค้าขายดีของ “1000 ทาง” จึงนำเอา “รูปช้าง” เข้าไปผสมผสานให้เกิดเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มลูกค้าที่ต้องการของสวยงามพร้อมกับสัมผัสของความเป็น “ที่ระลึก” จากเมืองไทย ไม่เฉพาะแต่เครื่องประดับแต่ของใช้อย่างกระเป๋าผ้าไหมลายช้างที่ออกแบบมาในรูปแบบที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นถุงผ้า หรือถุงใส่ของกระจุกกระจิกต่างกลายเป็นสินค้าขายดีของแบรนด์ ที่ชาวต่างชาติชื่นชอบ และซื้อติดไม้ติดมือกลับประเทศกัน

นอกจากนี้โพรดักต์ที่ขายดีมากยังมีสร้อยลูกปัดหลากหลายรูปแบบ เพราะ 1000 ทาง หยิบเอาลูกปัดสีสันสดใสมาออกแบบผสมกับจี้ช้างหรือเชือกถักที่ราคาจับต้องได้ แต่ดีไซน์ออกมาเป็นงานฝีมือโดนใจ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจหยิบซื้อได้ง่าย เหมาะกับเศรษฐกิจในยุคนี้ ซึ่งกลายเป็นว่าผลตอบรับดีไม่น้อย  จนเกิดเป็นผลงานอื่นๆ ตามมาอีก อย่างงานกระเป๋า ซึ่งต่างจะต้องมีกิมมิกน่ารักๆ ห้อยด้วยลูกปัดเก๋ๆ เข้าไปด้วยเกือบทุกใบ

 

1000 ทางในวันข้างหน้า

คุณต้าร์บอกกับเราว่า จากวันนั้นนับเป็นความประทับใจที่ไม่เคยลืม เพราะหากไม่ได้รับโอกาสจากคิง เพาเวอร์ ในวันนั้นที่เปิดกว้างให้กับสินค้าใหม่ๆ แบรนด์ “1000 ทาง” คงเดินทางมาได้ไม่ถึงวันนี้ ซึ่งในก้าวต่อๆ ไป แบรนด์ก็อยากจะขยายช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น รวมไปถึงลองทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคย ลองทำด้วย

“ช่องทางออนไลน์ถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเรา การทำงานหนักฝ่าวิกฤตมาได้หลายครั้ง เลยมองว่าเราต้องทำได้ ประกอบกับมีสินค้าที่เรายังไม่เคยลองทำ ยังมีอีกหลากหลาย อย่างกลุ่มเครื่องประดับที่เกี่ยวกับความเชื่อ ก็มองว่าน่าสนใจที่จะลองทำ และเป็นการขยายตลาดไปอีกด้วย”

เชื่อแน่ว่างานฝีมือผ่านเครื่องประดับของแบรนด์จะยิ่งหลากหลายเพิ่มขึ้นอีก ได้ชื่นชมผลงานสวยงามจากความตั้งใจกับงานเครื่องประดับอย่างสุดฝีมือของ “1000 ทาง” แล้วเราต้องขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับแบรนด์แบ่งปันผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องต่อไปเรื่อยๆ ด้วย

 

1000 ทาง (1000 ROADS)

ที่ตั้ง:  67/1 พัฒนเวศม์ ซอย 12 แขวง พระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: 1000 ROADS

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่ คิง เพาเวอร์ ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• Naiipa Art Complex โครงการเก๋ๆ สุดร่มรื่น พื้นที่สีเขียวกลางกรุงเพื่อเติมความสดชื่น เป็นทั้งแหล่งแฮงก์เอาต์สำหรับคนรักงานศิลปะ เป็น co-working space แถมด้วยร้านคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่น ให้นั่งชิล นั่งถ่ายรูป อยู่ที่สุชุมวิท 46 (BTS พระโขนง)

• Okinawa Kinjo โอกินาว่า “ก็แค่ปากซอย”…สุขุมวิท 69 อิซากายะญี่ปุ่นสุดฮิตประจำย่านสุขุมวิท ที่เสิร์ฟอาหารสไตล์โอกินาว่าแท้ๆ มีทั้งโอกินาว่าโซบะ หมูตุ๋นโอกินาว่า ซุปเครื่องในหมู และอีกมากมาย

• Tars Unlimited แกลเลอรีที่ซอยสุขุมวิท 67 ใกล้กับ BTS พระโขนง เป็นสเปซสีขาวที่ไว้สำหรับจัดนิทรรศการเก๋ๆ จากทั้งศิลปินไทยและศิลปินนานาชาติ ที่ผลัดกันมาเวียนให้เราได้ดูกันเรื่อยๆ ด้วยมุมมองที่หลากหลายและโมเดิร์น

Author

ธิติวลัย ศรีแหลมทอง

Author

มีความสุขกับการแต่งตัวเพื่อเติมอินสไปร์ให้กับตัวเอง พร้อมกับชีวิตที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอเมริกาโน่ และครัวซองต์ เป็นทาสหมาอย่างเต็มตัว ใฝ่ฝันอยากจะพกน้องหมาไปด้วยทั่วโลก

Web Editor

ปิ่นอนงค์ วัชรปาณ

Web Editor

บรรณาธิการเว็บ Thaipower.co อดีตบรรณาธิการบางสำนัก นักข่าวและคอลัมนิสต์จำเป็น โกสต์ไรเตอร์...ผู้รักการเดินทาง หลงใหลกลิ่นกาแฟ และเป็นมูฟวีเลิฟเวอร์