Product

ภูใจ๋ งานคราฟต์ไทย
สร้างประสบการณ์ใหม่ใน Global

วันเสาร์ มณฑาจันทร์ 6 Jan 2025
Views: 519

Summary

กระเป๋ากระจูดเพนต์หน้ายักษ์ไทย ผลิตภัณฑ์ที่เห็นแล้วเป็นใครก็อดใจไม่ได้เพราะความเท่ ! เชื่อไหมว่าเป็นผลงานฝีมือจากชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งวันนี้ผลงานเหล่านี้จะออกสู่สายตานานาประเทศ ภายใต้แบรนด์ “ภูใจ๋” เราก็อดใจไม่ได้ที่จะเก็บเรื่องราวมาฝากกัน

“ผลิตภัณฑ์เรามาจากชุมชน อยากให้ชื่อสื่อถึงชนบท”

ตอบข้อสงสัยว่า “ภูใจ๋” เป็นสินค้ามาจากภูเขาหรือจากดอยจังหวัดไหน “เราอยู่กรุงเทพฯ นี่ละครับ” คุณโบ้ – ภัคเมศฐ์ ธีระวลีวิชญ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “ภูใจ๋” (PHUJAI) เล่าด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี “พอดีพี่สาวผมมีโอกาสได้ไปช่วยพัฒนาสินค้า OTOP ช่วยเหลือชุมชนหัตถกรรมทั่วประเทศ ดูทั้งการออกแบบให้ร่วมสมัย หาช่องทางขยายตลาดและขยายกลุ่มลูกค้า ผมก็ได้ไปด้วย ทางเหนือจะไปบ่อยหน่อย พอคิดตั้งแบรนด์เมื่อ 4-5 ปีก่อน ก็เลยตั้งชื่อให้ฟังเป็นเหนือหน่อย”

ชื่อแบรนด์มีกลิ่นอายภาคเหนือ แต่ผลิตภัณฑ์ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘พระเอก’ ของภูใจ๋ในตอนนี้ กลับเป็นกระเป๋ากระจูดจากภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้นำไปใช้ แบบมองปราดเดียวรู้เลยว่า…ของดีจากเมืองไทย

 

“งานฝีมือคนไทยสู้ต่างชาติได้สบายมาก
บางกลุ่มสินค้าดีเยี่ยมกว่าด้วยซ้ำ
แต่จุดด้อยก็คือ ช่างฝีมือส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ
คนรุ่นใหม่จะมีความอดทนน้อยกว่า
การต่อยอดในอนาคตก็น่าเป็นห่วง”

ภัคเมศฐ์ ธีระวลีวิชญ์
ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PHUJAI (ภูใจ๋)

ภัคเมศฐ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์และผลงานของ PHUJAI

 

เมื่อ “Local” กลายเป็น “Classic”

“เป้าหมายจริงๆ ไม่ได้พยายามทำให้ผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านกลายเป็นงานร่วมสมัยนะ” คุณโบ้ ซึ่งออกตัวว่าร่ำเรียนมาทางด้านบริหารธุรกิจ แต่ก็คลุกคลีอยู่ในวงการออกแบบมาพอสมควร ได้เผยมุมมองที่มีต่อฝีมือคนไทย “งานชาวบ้านเมื่อยุคหนึ่งอาจมีคนบอกว่าเชย แต่พอนานไป…นานไป ถึงโลกยุคนี้คนสนใจความเป็นพื้นถิ่นกันแล้ว งานที่เคยเชยกลับกลายเป็นคลาสสิกหรือวินเทจ ไม่ได้ดูล้าสมัยแล้ว แล้วงานคราฟต์ของไทยเราก็ยังคงยืนยงมาตลอด เพราะวัสดุที่ดีและฝีมือที่ดี”

การช่วยพัฒนาก็ไม่ถึงขั้นไปเปลี่ยนแปลงดีไซน์ของชาวบ้าน เพียงแต่ไกด์เรื่องสีสัน และแนะนำให้ใส่ใจเรื่องความเรียบร้อยของชิ้นงาน พัฒนาเรื่องความคงทนให้มากขึ้น “เราอาจต้องบอกทิศทางตลาด เช่น ถ้าจะขายยุโรปสีสันอาจต้องซอฟต์หน่อย ถ้าขายคนจีนก็เติมสีสันได้เต็มที่”

จุดเด่นงานไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นงานฝีมือแทบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราใช้เครื่องจักรน้อยมาก นั่นคือทำร้ายลิ่งแวดล้อมน้อยตามไปด้วย เข้ากระแสรักษ์โลกที่กำลังจริงจังกันอยู่ทุกวันนี้

“แต่กลายเป็นว่าผลิตภัณฑ์ทำได้ทีละน้อย กระเป๋ากระจูดเราส่งได้ครั้งหนึ่งหลักสิบใบ ตลาดต้องการมากแค่ไหน…เราทำด้วยมือได้จำนวนเท่าเดิม  ผมเห็นที่มีคนทำต้นคริสต์มาสที่ตั้งด้านหน้า คิง เพาเวอร์ รางน้ำ” คุณโบ้เอ่ยถึงงาน Relocal Christmas Tree ต้นคริสต์มาสของ คิง เพาเวอร์ ที่ให้ศิลปินนำงานหัตถกรรมไทยทั้งพัด กระด้ง และกระจาด กว่า 25,000 ชิ้น สร้างสรรค์เป็นต้นคริสต์มาสสูงกว่า 7 เมตร “ผมเชื่อว่าต้องไปขอร้องอ้อนวอนให้ชาวบ้านสานให้แน่ เพราะหาปริมาณมากมายขนาดนั้นยากมาก” อ่านเรื่องศรัณย์ เย็นปัญญา ศิลปินผู้ครีเอตต้นคริสต์มาสนี้ คลิก 

ปัญหาชาวบ้านผลิตได้น้อย (ที่อาจเป็นเรื่องดี เพราะผลิตภัณฑ์หายาก) คงอยู่คู่เมืองไทยมาอย่างยาวนาน เชื่อได้เลยว่างานหัตถกรรมไทยยังคงเป็นที่ต้องการเสมอมา สิ่งที่แข่งขันกับคนอื่นได้ต้องเป็นเรื่องคุณภาพแล้วล่ะ

 

เมื่อ “ยักษ์” กลายเป็น “พระเอก”

กระเป๋ากระจูดที่เพนต์รูปหน้ายักษ์แบบไทยๆ เป็นภาพจำของเราไปแล้วเมื่อพูดถึงแบรนด์ “ภูใจ๋” ซึ่งก็เป็นงานที่คุณโบ้ภูมิใจเช่นกัน กระเป๋ากระจูดที่คุณโบ้นำเสนอในภูใจ๋เป็นงานสานของชาวบ้าน ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

“เขาใช้ต้นกระจูดซึ่งเป็นวัชพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มาสานเป็นกระเป๋า ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ ทำด้วยมือทุกขั้นตอน เราก็คิดนะว่าจะเอามาทำอะไรได้บ้าง  เห็นคนที่นั่นวาดรูปได้ ก็เลยลองให้เขาวาดรูปลงบนกระเป๋า เป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือทั้งเทคนิคที่ค่อนข้างละเอียด ออกมาเป็นกระเป๋ามีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้รับความสนใจทั้งชาวไทยและต่างชาติ”

รูปวาดที่โดดเด่นที่สุดก็คือ บรรดาตัวละครในรามเกียรติ์ ยักษ์ และหนุมานหลากสีสัน ตามมาด้วยลายดอกไม้ การ์ตูนน่ารักๆ ตามแต่ความถนัดของช่างวาด “กระเป๋ากระจูดเพนต์ลายน่าจะสืบทอดได้อีกนาน เพราะเริ่มมีเด็กรุ่นใหม่เข้าไปเรียนรู้และขอทำงานกันบ้างแล้ว”

ใครได้เดินดูสินค้าตามงานแสดงสินค้าอาจเคยเห็นงานลักษณะนี้มาบ้าง แต่ก็ไม่ใช่แบรนด์ภูใจ๋ไปเสียทั้งหมด “เราไม่ซีเรียสที่มีสินค้าที่คล้ายกัน ไม่เคยถือว่าเป็นคู่แข่งเพราะกำลังผลิตแต่ละคนมีไม่เยอะหรอก ดีด้วยซ้ำจะได้มาช่วยกันขาย อยากให้ขายได้เยอะๆ แล้วกำไรส่วนใหญ่มันจะกลับไปหาชาวบ้าน ให้เขาได้มีรายได้”

ประสบการณ์ประทับใจ

จาก ภัคเมศฐ์ ธีระวลีวิชญ์ เจ้าของแบรนด์

“ก่อนโควิดเราลงใต้ไปหากระเป๋า บอกกลุ่มแม่บ้านให้ทำ
กระเป๋าหน้ารามเกียรติ์พร้อมบอกโทนสีไป
และช่วยแก้ไขโทนสีในงานเพนต์หลายๆ ลายให้
เมื่อสินค้าขายดีและมีคนสั่งมากขึ้น เราบอกเขาให้นำไอเดียนี้
ไปขายช่องทางอื่นได้ เราไม่หวงสิทธิ์
กลุ่มแม่บ้านเดินเข้ามาขอบคุณและกอดพี่สาวผม
ขอบคุณที่เราช่วยให้แนวทางไอเดียไปต่อยอด
มันเป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูกเลยครับ”

ภาพโดย Expert Kit

 

เมื่อ “ไทย” ก้าวสู่ “Global”

ก่อนหน้าที่จะไปจับงานคราฟต์ชุมชน คุณโบ้และพี่สาวเปิดกิจการร้านดอกไม้ Flower Gallery และ Flower Pavilion ที่มีสาขาอยู่ตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ แต่เมื่อได้ไปพบงานช่างฝีมือไทยก็เริ่มนำมาต่อยอดขายในร้าน และมีเปิดร้าน Siam Goodies ที่เป็นงานคราฟต์เพิ่มด้วย แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ต้องวิ่งตามกระแสโลกให้ทัน

“ช่วงก่อนโควิดนิดหนึ่ง ผมเริ่มมองเห็นว่าการขายออนไลน์มันมาแล้ว เราควรจะนำสินค้าเข้าไปสู่ความเป็น global ไม่ว่าจะเปิดช่องทางของตัวเอง หรือไปอยู่ในแพลตฟอร์มของคนที่ขายในระดับนั้นอยู่แล้ว เช่น คิง เพาเวอร์ ก็ได้นำเสนอโพรดักส์เข้ามาในชื่อแบรนด์ ภูใจ๋ นี่ล่ะ”

คิง เพาเวอร์ มุ่งมั่นสนับสนุนพลังคนไทยอยู่แล้ว “ภูใจ๋” จึงได้เข้ามาอยู่ในโครงการ “Thainess Station สินค้าไทย ร่วมใจเพื่อชุมชน” ตั้งใจยกระดับผลิตภัณฑ์และสินค้าไทยสู่สากล ด้วยการนำสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศมานำเสนอ

“กระเป๋าสานกระจูดแฮนด์เมดเพนต์ลายรามเกียรติ์ พระเอกของเราก็มา และยังมีผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้าเป็นงานฝีมือชื่อดังจากจังหวัดราชบุรี ตั้งแต่ผ้าขาวม้าเป็นผืนเลย ไปจนถึงการใส่ความคิดสร้างสรรค์เป็นพวงกุญแจจากผ้าขาวม้าก็มี เราไม่ค่อยได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับลายผ้าเท่าไร อาจมีไปขอเรื่องสีสันลดความสดของสีลงมาเป็นสีพาสเทลให้เราบ้าง แล้วไปคิดเรื่องการทำเป็นชิ้นงานแบบไหนมากกว่า”

แม้ใส่ใจในทุกรายละเอียด แต่ให้เกียรติช่างฝีมือ ให้เขาได้เล่าเรื่องของเขาตามภูมิปัญญาที่เขาได้รับถ่ายทอดมา “อยากให้คนทั่วโลกได้รู้จักและหลงรักในเสน่ห์และความงดงามของไทยอย่างแท้จริงครับ”

สิ่งที่เป็นห่วงคือการสานต่องานฝีมือ เพราะคุณโบ้เคยมีประสบการณ์มาแล้วว่า เมื่อคนหนึ่งไม่มีกำลังสร้างงานก็มาขอเลิกผลิตไปเลย “มีตุ๊กตาที่ชาวเขาเคยทำให้เรา วันหนึ่งมาบอกว่าไม่แน่ใจว่าจะทำได้ต่อไหม ผมบอกเขาไปว่า…ที่พี่ทำอยู่มีเท่าไรส่งมาให้ผมหมดเลยได้ไหม แล้วถ้าผมขายหมดแล้วจะไปถามอีกทีว่าพี่ยังจะทำอยู่หรือเปล่า”

ซึ่งเคสนี้ เขากลับมาทำงานส่งมาได้ต่อ “น่าเป็นห่วงมากครับ ว่าสักวันงานฝีมือจะหายไป”

การสานต่อครั้งนี้ของ “ภูใจ๋” กับ “Thainess Station สินค้าไทย ร่วมใจเพื่อชุมชน” นอกจากส่งต่อประสบการณ์งานฝีมือไทย อาจเป็นการต่อลมหายใจของงานคราฟต์ชุมชนก็เป็นได้

ปักหมุดเที่ยวใกล้แหล่งงานคราฟต์

• ล่องแพบ้านวังหอน ในอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังมีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ให้เราได้เรียนรู้และผจญภัย ถ้ามเที่ยวสามารถเดินเข้าป่าพอให้ได้เหงื่อแล้ว ไปล่องแพไม้ไผ่ในลำคลองธรรมชาติไหลผ่านพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร หากอยากพักข้ามคืน แถวนี้มีโฮมสเตย์ไว้บริการด้วย มาสัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและซึมซับพลังจากธรรมชาติกันได้เต็มที่

• หมู่บ้านคีรีวง หมู่บ้านในอ้อมกอดของขุนเขาอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “เขาหลวง” ภูเขาที่สูงที่สุดในภาคใต้ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีคลองท่าดีเป็นคลองสายหลักที่ไหลผ่านหมู่บ้าน เหมาะกับการไปนอนฟังเสียงน้ำไหลผ่านแก่งหิน ปั่นจักรยานชมป่าเขาและสวนผลไม้ ที่นี่เป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วยนะ

• กาดวิถีชุมชนคูบัว อยู่ในวัดโขลงสุวรรณคีรี ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นตลาดโบราณที่มีวิถีชีวิตชุมชนชาวไทยวนให้ได้สัมผัส อาหารคาวหวานพร้อมพรั่ง ที่ขาดไม่ได้คือผ้าซิ่นตีนจกของขึ้นชื่อตำบลคูบัว สามารถลองแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองแล้วเดินถ่ายภาพในชุมชนได้

Author

วันเสาร์ มณฑาจันทร์

Author

นักเขียนอิสระ แม้จะร่ำเรียนมาทางด้านภาพยนตร์แต่นอกจากถ่ายภาพและเขียนหนังสือแล้ว ยังสนใจเรื่องการทำอาหารและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากเป็นพิเศษ

Web Editor

ปิ่นอนงค์ วัชรปาณ

Web Editor

บรรณาธิการเว็บ Thaipower.co อดีตบรรณาธิการบางสำนัก นักข่าวและคอลัมนิสต์จำเป็น โกสต์ไรเตอร์...ผู้รักการเดินทาง หลงใหลกลิ่นกาแฟ และเป็นมูฟวีเลิฟเวอร์