Product

‘ศรียะลาบาติก’
กลิ่นอายดั้งเดิม…อยู่อย่างร่วมสมัย

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 28 Oct 2024
Views: 565

Summary

ผลผลิตจากศรียะลาบาติก คืออีกหนึ่งผลิตผล “พลังคนไทย” …ผลงานที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการสร้างสรรค์ที่ปลุกภูมิปัญญาดั้งเดิมที่หายไปเกือบ 100 ปี ด้วยผ้าปะลางิงนั้น…เป็นไปได้ และเป็นสินค้าคงความสวยงามแบบโบราณที่สามารถประยุกต์ให้อยู่อย่างร่วมสมัยเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันได้ด้วย

ผลงานผ้าของ ‘ศรียะลาบาติก’ ถือว่าช่วยปลุกภูมิปัญญาท้องถิ่นและมีประวัติทางวัฒนธรรมยาวนาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง…ผ่านผ้าปะลางิง หลังจากที่ภูมิปัญญาในงานฝีมือของผ้านี้หายไปนานกว่าเกือบ 100 ปี โดย ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์มีเจตนารมณ์เด่นชัดว่าต้องผสมผสานทั้งวิถีแบบดั้งเดิมที่ใช้เทคนิคและกรรมวิธีแบบเก่า เพื่อให้ “ผ้าไทย” ในแบบศรียะลาบาติก ทำให้ผ้าปะลางิงดำเนินไปอย่างคู่ขนานกับความร่วมสมัยให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคปัจจุบันด้วย คลิกอ่านเรื่องของครูปิยะและความเป็นมาของผ้าปะลางิงเต็มๆ ได้ที่นี่ 

 

อัตลักษณ์ ‘ผ้าปะลางิง’

ความเป็นผ้าปะลางิง คือ การออกแบบทอผ้าที่มีลวดลายโดยใช้เทคนิคหลากหลายได้ถึง 5-6 อย่างบนตัวผ้าผืนเดียวกัน นับตั้งแต่การพิมพ์ ย้อม เล่นโทนสี ซึ่งจะมีความยากกว่าผ้าบาติกทั่วไป นอกจากนั้นยังมีการแกะไม้แม่พิมพ์ลายกันแต่ละท้องที่ตามแต่วัฒนธรรมต่างๆ ที่อยู่ในท้องถิ่น ทำให้ผ้าทุกผืนมีเรื่องราววัฒนธรรมและกลิ่นอายของสีที่มีความเป็นสมัยใหม่อยู่ร่วมเสมอ ทั้งวัฒนธรรมการกิน การแต่งกาย ด้านสถาปัตยกรรม การละเล่น รวมถึงการรักษาพันธุ์ไม้ในพื้นที่ ซึ่งผ้าของศรียะลาบาติกจะมีการสร้างลวดลายเซตใหญ่ใหม่ถึง 4 ครั้ง แล้วค่อยไปแตกย่อยทำให้มีลวดลายใหม่อีกถึง 4 – 6 ลายในแต่ละเดือน

“ภูมิปัญญาไม่มีคำว่า ‘เฉย’ ความเก่าใหม่สามารถอยู่รวมกันได้อยู่ที่จะไปจับวางอย่างไร โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่เขาพร้อมเข้าใจภูมิปัญญาท้องถิ่น นำนวัตกรรม และประยุกต์ใช้โซเชียลมีเดีย เพียงแต่สิ่งที่ต้องฝากฝังคือแก่นรากเหง้า เพราะการเรียนรู้วิธีทำแบบดั้งเดิมให้เข้าใจก่อนสำคัญ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถเล่าเรื่องราวหรือหาวิธีการเพิ่มมูลค่าออกมาได้” ครูปิยะแห่งศรียะลาบาติกบอกกับเรา

 

รักษาคุณค่าแบบเดิมและเข้าถึงไลฟ์สไตล์ยุคใหม่

ผลิตภัณฑ์ศรียะลาบาติกมี 2 รูปแบบ ได้แก่…

ผ้าอนุรักษ์ ที่ยังคงรักษาลวดลายวิถีวัฒนธรรม ใช้การแกะบล็อกแม่พิมพ์ไม้ และใช้กระบวนการผลิตแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ตามแบบโบราณดั้งเดิม ผ้าปะลางิงขนาด 100 หลาที่ต่อชิ้นใช้เวลาทำงานฝีมือถึง 3 – 4 เดือน หรือมากสุดเฉลี่ยต่อเดือนสามารถผลิตผ้าปะลางิงได้ไม่เกิน 4 ชิ้น ซึ่งลูกค้าเข้าใจดีเพราะส่วนใหญ่จะเป็นนักสะสมผ้าที่สั่งทำตามออร์เดอร์เป็นหลัก

และ ผ้าเชิงพาณิชย์ ที่จะออกแบบลวดลายผ้าให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงราคาได้ แต่ยังคงกลิ่นอายแบบศรียะลาบาติกอยู่ ซึ่งปัจจุบันกำลังออกแบบลายวัฒนธรรมด้านสถาปัตยกรรม โดยนำเรื่องกระจกสีและลายฉลุของบ้านโบราณมาประกอบกัน หรือวัฒนธรรมการละเล่น เช่น ว่าว นกเขา นกกรงหัวจุก มาทำลายพิมพ์สำหรับผ้าอนุรักษ์แล้ว ก็จะบิดลวดลายทำเป็นเสื้อเชิ้ตหรือผ้าคลุมไหล่ได้ด้วย

“ทำทั้ง 2 แบบเพื่อให้ทุกคนสามารถสวมใส่ผ้าปะลางิงได้ตามบริบทและเข้ากับไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันของตัวเองโดยเฉพาะอยากให้คนรุ่นใหม่เลือกใส่เสื้อผ้าหรือใช้ผ้าคลุมไหล่ของเราได้ ลวดลายที่ทำอาจดูโบราณแต่พอลองปรับแฟชั่นและเลือกใช้โทนสีเป็นพาสเทลทำให้ดูโมเดิร์นและขยายฐานลูกค้าได้กว้างขั้น แม้ต่อเดือนงานแบบพาณิชย์จะผลิตได้มากกว่าแบบดั้งเดิม แต่ถ้ามองเรื่องรายได้งานดั้งเดิมช่วยสร้างรายได้ให้มากกว่า”

3 สีท้องถิ่นอัตลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน

ศรียะลาบาติกมีใช้ทั้งสีเคมีและสีจากธรรมชาติ เพราะจำเป็นต้องผลิตผลงานให้เข้าสอดคล้องไปกับพฤติกรรมของผู้บริโภค

สีธรรมชาติของผ้าศรียะลาบาติกจะใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่มาจากภาคใต้โดยเฉพาะเป็นหลักแล้ว ยังสามารถเล่าเรื่องราวความเป็นมาและสร้างเอกลักษณ์ให้ศรียะลาบาติกและจังหวัดยะลาได้อีกด้วย โดยวางคอนเซปต์ใช้สีที่มีตามฤดูกาลเพราะถ้าหมดช่วงนี้ก็จะไม่มีวัตถุดิบให้ผลิตสีแล้วต้องรอไปอีก 1 ปี เช่น สีจากเปลือกเงาะ สีจากเปลือกสะตอ หรือสกัดจากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ต้นศรียะลาและดอกพิกุล ซึ่งครู ปิยะแนะนำสีที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดยะลา…สีน้ำตาล สีชมพู และสีเทาอมเขียว และยังเป็นเอกลักษณ์ของศรียะลาบาติกที่ไม่มีใครเหมือนเพราะเป็นการคิดค้นและทดสอบขึ้นมาเองและไม่มีใครเคยทำมาก่อน มีดังนี้

ภาพจาก ศรียะลาบาติก

สีจากต้นศรียะลา ต้นไม้ประจำจังหวัดยะลา ที่ทั้งต้นสามารถทำเป็นสีได้หมด ใบให้สีเหลืองอมเขียว เปลือกให้สีน้ำตาลแดง ส่วนฝักให้สีน้ำตาลอมม่วงระเรื่อ และดอกให้สีเหลืองนวลหรือน้ำตาลอมเหลือง ซึ่งขึ้นอยู่กับความแก่และอายุของต้นไม้

สีจากดอกพิกุล ดอกไม้ประจำจังหวัดยะลา ให้โทนสีพาสเทลอมชมพูหวานและให้ความพิเศษอีกหนึ่งอย่างคือ แม้ผ่านการซักรีดแล้วจะยังคงกลิ่นความเป็นดอกไม้เอาไว้ ยกเว้นกรณีที่ผ้าผ่านการซักล้างแบบกัดสีหรือใช้สารเคมีมาก

สีจากเปลือกเงาะ ที่มาเกิดจากที่ศรียะลาบาติกอยากได้สีดำมา “ทำผ้า” แต่ภาคใต้มีมะเกลือน้อยมาก จึงทดลองนำเปลือกเงาะไปหมักกับดินเหนียวของกอบัว จนได้สีย้อมที่ต้องการ…เป็นสีดำสนิทเหมือนเส้นผมแล้วค่อยเพิ่มเฉดสีเป็นสีเทาหรือเทาอมเขียว

ภาพจาก ศรียะลาบาติก

เส้นใยฝ้ายไหมที่ผ่านการคัดสรร

มีหลายผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ผ้าผืน ผ้าคลุมไหล่ทั้งจากฝ้ายและไหม ผ้าอเนกประสงค์ ผ้าคลุมไหล่จากสีธรรมชาติ เสื้อเชิ้ตผู้หญิง เสื้อเชิ้ตผู้ชาย ซึ่งแต่ละประเภทสินค้าจะมีทั้งจากเส้นไหมและจากฝ้าย

แต่กว่าจะเป็นสินค้าประเภทหนึ่งจะวางแผนและออกแบบก่อนแล้วค่อยเลือกวัตถุดิบให้สอดคล้องสิ่งที่ต้องการทำ โดยเฉพาะการเลือกเส้นใยและการขึ้นลวดลายเส้นใยเองตั้งแต่แรก เพราะเส้นใยที่มาแต่ละแห่งก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน เช่น ไหม จากจังหวัดสุรินทร์ จะทำผ้าปะลางิงแบบดั้งเดิมเป็นหลัก หรือคุณสมบัติของฝ้ายที่ให้ความนุ่ม แต่ฝ้ายจากจังหวัดนราธิวาส ให้อารมณ์แบบผ้ายืดที่มีความเด้งและล้อไปกับมือซึ่งเหมาะทำเป็นผ้านุ่ง ส่วนฝ้าย จากจังหวัดขอนแก่น จะนุ่มไม่มีความเด้งเหมาะสำหรับทำเป็นผ้าพันคอ

 

สินค้าที่ส่งต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ยั่งยืน

จะออกแบบและวางแผนทุกกระบวนการผลิตแบบมีขั้นตอนจากต้นทางสู่ปลายทางให้อย่างยั่งยืนที่สุด คิดเหมือนคนทำนาที่ดูแลวัตถุดิบการปลูกข้าวตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตเพื่อสามารถผลิตเองได้ตลอดเวลา แถมช่วยประหยัดต้นทุนและกระจายรายได้ให้ชุมชน

“เราทำงานเหมือนบริษัทใหญ่” จากคำบอกเล่าของครูปิยะ “ที่เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพียงแต่ทำกันเองในรูปแบบชุมชน เก็บวัตถุดิบเพื่อทำสี ทอ แกะแท่นพิมพ์เอง ดูแลสมาชิกกันเองทุกกลุ่ม กลุ่มเย็บผ้าสตรีหรือกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ เลือกแหล่งเส้นใยทอผ้าเองทั้งอีสานและใต้ พร้อมเก็บรายละเอียดบอกเล่าเรื่องราวและทำการตลาดเองกับเครือข่ายที่เข้าใจงานศิลปะท้องถิ่น ควบคู่กับการเปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่สนใจมาเรียนรู้เสมอ เพราะทั้งหมดนี้ชุมชนจะมีรายได้จากผ้าท้องถิ่นที่เขาพร้อมสืบสานและต่อยอด…ลูกค้าที่ซื้อผ้าของเราจากที่ คิง เพาเวอร์ ก็มีมาซื้อที่เรา เวลาที่เขามาท่องเที่ยวที่นี่ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนและทำให้ผู้คนเห็นตัวตนของผ้าของเราได้สืบต่อไปสู่คนรุ่นหลังต่อไปด้วย”

ภาพจาก ศรียะลาบาติก

ยึดหลักคิดจากพระราชาและเคารพการอยู่ร่วมกัน

หลักที่ยึดถือตลอดคือคำสอนในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสไว้ว่า ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนแต่พยายามกำหนดแต่ละเป้าหมายให้ชัด ถ้าอะไรยากก็ถือว่าไม่ใช่แล้ว พร้อมเคารพหลักการอยู่ร่วมกันเพราะอยู่ในพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ตลอด 18 ปีที่อยู่ร่วมกันมา มีแต่การเคารพซึ่งกันและกันและคอยช่วยเหลือกัน

ในช่วงยากลำบากก่อนหน้านี้ ที่อื่นอาจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ศรียะลาบาติกยังคงได้รับการสนับสนุนตลอดมา เพราะจากน้ำใจที่หยิบยื่นให้กันจากการทำแมสแจกให้ทุกคนทุกอาชีพในพื้นที่ กลายเป็นมีออร์เดอร์เข้ามา จนถึงทุกวันนี้สถานที่แห่งนี้ไม่เคยมีการปิดประตู และพร้อมต้อนรับทุกคนที่มาเยี่ยมเยือนเสมอ เหล่านี้คือสิ่งที่ครูปิยะบอกกับเรา

ภาพจาก ศรียะลาบาติก

 

ศรียะลาบาติก (SRIYALA BATIK)

ที่ตั้ง: เลขที่ 85 เวฬุวัน ซ.12 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา 95000

ภาพจาก ศรียะลาบาติก

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• บ้านแลผาหน้าถ้ำ สถานที่ตั้งแคมป์ที่มีบรรยากาศดีมากสามารถเห็นวิวสวยงาม ไม่ห่างตัวเมืองจังหวัดยะลามากนัก แต่ได้สัมผัสธรรมชาติในหมอกท่ามกลางภูเขา

• ร้านลาภปาก อาหารพื้นบ้านรสชาติดีราคาไม่สูง มีเมนูแนะนำ คือ แกงคั่วหอยขม ลาบทอด ตำแซลมอน

• วัดคูหาภิมุข (วัดหน้าถ้ำ) มีพระพุทธรูปอายุหลายร้อยปี และมีเรื่องราวแหล่งชุมชนโบราณ

 

รายการ ผจญไทย EP13 ตอน “ผ้าสีรุ้งของภาคใต้ ศรียะลาบาติก”

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก