เมื่อ ‘เครื่องเบญจรงค์’ ของสะสมของคุณยายที่ตั้งโชว์อยู่ในตู้ จับคู่กับ ‘เทียนหอม’ ซึ่งหล่อหลอมจากวัตถุดิบธรรมชาติ โดยผ่านการสร้างสรรค์ กลั่นกรอง ไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งทั้งรูปลักษณ์ กระบวนการผลิต การกระจายรายได้สู่ชุมชน ไปจนถึงการตลาด ก่อเกิดเป็นเครื่องเซรามิกสวยแปลกตาในดีไซน์ไทยแฝงกลิ่นอายโมเดิร์นอาร์ต
ฐาณิญา1988 จึงกลายเป็นทั้งบรรจุภัณฑ์ใส่เทียนแสนหอมและของตกแต่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศห้องให้รื่นรมย์ สมกับที่ได้รับเลือกเป็นผู้ผลิตของขวัญสำหรับแขกผู้เข้าชมแฟชั่นโชว์ CHANEL Cruise 2019 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ และแฟชั่นวีกของ Louis Vuitton ที่มิลานและเซี่ยงไฮ้
แม็ทช์ – ฐาณิญา เจนธุระกิจ ผู้สร้างแบรนด์ THANIYA1988 กล่าวถึงผลผลิตของเธอว่า “เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของ ฐาณิญา 1988 คือการผสมผสานระหว่าง งาน Art x Craft x Contemporary x Oriental x Elegance x Modern ตั้งแต่การออกแบบตราสัญลักษณ์สินค้าของเรา จะเห็นได้ว่าเรามีการผสมผสานระหว่างตัวเลขไทย มาร้อยเรียงใหม่ให้เป็นสากลมากขึ้น
ฐาณิญา 1988 สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่การวางรูปแบบร้านและการออกแบบในทุกๆ ส่วน การสร้างผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นใส่ใจทำด้วยมือ ไม่ว่าจะเป็นตัวเซรามิกที่ทำด้วยมืออย่างใส่ใจ ตั้งแต่การขึ้นรูป การเขียนลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเทียนด้วยมือ โดยนำภูมิปัญญาและอัตลักษณ์พิเศษของไทยมาผสมผสานต่อยอดพัฒนา
จุดเริ่มต้น เมื่อหนึ่งทศวรรษที่ผันผ่าน
นับย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2555 ตอนที่คุณแม็ทช์เรียนจบกลับมาจากประเทศอังกฤษ เธอก็คิดสร้างสรรค์สินค้าของตัวเองเพิ่มเติมจากธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว “สมัยก่อนที่คุณแม่จะแต่งงาน ที่โรงงานทำด้านดอกไม้ประดิษฐ์กันมา แล้วพัฒนามาเป็นบุหงารำไป ก่อนจะมาเป็นเครื่องหอม (OEM) ไม่ได้มีแบรนด์ของตัวเองค่ะ” ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่เธอเลือกเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ ปริญญาโทวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึง Engineering Business Development จาก Warwick University เพื่อมาบริหารธุรกิจของครอบครัว
“จริงๆ เราซึมซับงานหัตถกรรมมาตั้งแต่เด็กๆ เห็นพี่ๆ ที่โรงงาน เห็นคุณแม่ทำมา ตัวแม็ทช์เองเรียนสายวิศวะ แต่ชอบด้านศิลปะ ชอบความเป็นไทย ก็เลยคิดว่าอยากทำแบรนด์ เพราะเรามีศักยภาพ มีทีมงานที่พร้อม มีองค์ความรู้ด้านเครื่องหอมมาพอสมควร เราน่าจะทำแบรนด์ของตัวเองที่นำความเป็นไทย งานคราฟต์ งานอาร์ตมาบวกกัน จนมาเป็นสินค้าที่คนไทยและคนต่างประเทศยอมรับ
เริ่มต้นจากการทำเทียนแก้วและน้ำมันอโรมาก่อน จนเมื่อกลับไปดูงานทางบ้านแล้วจึงเห็นว่า เซรามิกเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยคุณยายทำแล้ว ของตั้งอยู่ในตู้ แสดงว่าเป็นสิ่งส่งมอบจากรุ่นสู่รุ่น เธอจึงไปศึกษาข้อมูลแล้วพบว่าตัวเซรามิกดั้งเดิมมาจากประเทศจีน โดยมีมาตั้งแต่เส้นทางสายไหม เส้นทางสายเครื่องเทศ ซึ่งจะใช้เซรามิกเป็นหนึ่งในการแสดงอัตลักษณ์และแสดงถึงความมั่งคั่งในสมัยนั้น
“จะเห็นว่าทุกบ้านมีเซรามิก แล้วเราไม่ค่อยทำลายทิ้งด้วยนะ แสดงว่าเซรามิกเป็นเครื่องชี้วัดตัวหนึ่ง เราจึงพัฒนาจากเครื่องหอมมาเป็น ฟิวชันเซรามิก ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ของเทียนหอมของเรา แล้วขยายแตกไลน์เป็นของตกแต่งบ้าน”
เมื่อได้ไอเดียผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจแล้ว คุณแม็ทช์ก็เริ่มวางแผนธุรกิจตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มตั้งแต่การวางหน้าร้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตลาดส่งออก ด้วยคุณแม่ของเธอทำตลาดส่งออกสำหรับสินค้าของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้เน้นทำในนามของแบรนด์ของตัวเองหรือเผยแพร่ในหลากหลายประเทศ เธอจึงต้องมาดูตลาดควบรวมการดูแลสต็อกสำหรับหน้าร้าน เรียกว่าเธอคือผู้ดูแลบริหารจัดการทั้งหมด ทั้งตัวของโรงงานและแบรนด์นั่นเอง
Suggestion
อัตลักษณ์ของ THANIYA1988
ในส่วนของเครื่องเซรามิก “Thaniya หยิบเอาลูกเล่นเอกลักษณ์ของเครื่องลายครามที่ประเทศไทยมีมาช้านาน คือการเขียนสีฟ้าครามลงบนเครื่องเคลือบสีขาวมาออกแบบฟิวชันกับดีไซน์สมัยใหม่ โดยลดทอนลวดลายและลายเส้นประเพณีออกบ้าง ผนวกกับรูปทรงเรขาคณิต ก่อให้เกิดลวดลายที่เป็นรูปแบบ Modern Contemporary เพื่อให้เข้ากับเทรนด์ของคนรุ่นใหม่มากขึ้น
สำหรับสีสันเพิ่มการใช้สีเขียวและสีดำ สร้างลายทูโทนสีดุดันและทรงพลังบนเครื่องเคลือบขาว ขณะที่รักษา process การผลิตซึ่งทรงคุณค่าของงานหัตถศิลป์ไทยไว้ นั่นคือการใช้เทคนิควาดลวดลายด้วยมือ ซึ่งทักษะและประสบการณ์ของช่างฝีมือแต่ละคนล้วนก่อให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัวในงานแต่ละชิ้น
“งานของเรามีหลายโทนสีค่ะ อย่างบางลายเราก็จะดึงมาจากลายผ้าของไทย ไม่ว่าจะเป็นลายผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด หรือบางลายก็มาจากสถาปัตยกรรมของไทย เช่น ถ้าไปทางเหนือ จะเห็นว่าทางขึ้นของวัดจะมีตัวมอมที่เป็นลักษณะของพญานาค เราก็นำลายเกล็ดของพญานาคมาวาดเพื่อจะสื่อว่านำไปสู่ทางที่ดี ลายกระติ๊บจากกระติ๊บข้าวเหนียวไทบ้าน แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของไทย”
นอกจากนั้นยังมีลวดลายที่ได้โจทย์จากต่างประเทศ เช่น ลายแกสบี้ ที่เกิดจากร้านสาขาเวียนนาต้องการลาย Luxury ซึ่งทางแบรนด์ตีความบริบทของยุคแกสบี้ ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของยุโรป ร่วมกับถอดลวดลายมาจากในหนังคลาสสิกอย่าง The Great Gatsby เกิดเป็นลายซิกเนเจอร์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากลูกค้าที่ออสเตรีย
สินค้าของ ฐาณิญา 1988 ไม่ได้นำเสนอเพียงความเป็นไทย แต่ยังสร้าง “ไทยประยุกต์” แบบเติมความอินเทอร์ ความโมเดิร์น…สร้างสรรค์ลายใหม่ๆ เช่น ลายปลาคาร์ปขายดีที่ญี่ปุ่น ลายมงคลถูกใจลูกค้าชาวจีนก็มีทั้งลายเสือ ลายเสริมฮวงจุ้ยอย่างลายไผ่ แทนความอายุมั่นขวัญยืน ลายปลาทอง มั่งคั่งร่ำรวย ลายพัด คือการพัดพาสิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิต
ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่ช่วยสรรค์สร้างลวดลายและสีสันอันทรงเสน่ห์ให้ถูกใจลูกค้าแต่ละวัฒนธรรมมาจากการใส่ใจรับฟังความเห็นกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ
“อย่างลูกค้าเซี่ยงไฮ้ คนทั่วไปอาจคิดว่าสินค้าสีแดงน่าจะขายดี กลับกลายเป็นว่าสียอดนิยมคือสีน้ำตาล หรือดูไบน่าจะชื่นชอบสีทองแต่สีดำต่างหากที่เป็นสีโปรด หรือโซนยุโรปที่เหมือนจะชอบสีอ่อน แต่ช่วงซัมเมอร์ก็จะนิยมสีสันสดใสด้วย” ดังนั้น ทุกสามเดือน ฐาณิญา 1988 จะต้องทำการบ้าน ฟังความคิดเห็นของลูกค้าแต่ละสาขาว่าต้องการสินค้าแบบไหน ควบคู่กันไปกับดีไซน์ของตัวเองจึงได้จุดที่ลงตัว และเพิ่มความหลากหลาย ขยายขอบเขตตลาดออกไปไม่รู้จบ
“ถ้าลูกค้าอยากสั่งทำพิเศษเพื่อเป็นของขวัญให้ผู้ใหญ่ไว้ขึ้นบ้านใหม่ หรือสำหรับการเลื่อนตำแหน่ง เราก็ทำให้ได้”
เทียนหอม หอม…ที่ไม่เหมือนใคร
เทียนหอม อีกหนึ่งจุดเด่นของ ฐาณิญา 1988 นั้นหล่อหลอมด้วยความใส่ใจด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่แค่กลิ่นหอมที่คัดสรรจากดอกไม้และสมุนไพรไทยหลายสิบกลิ่น โดยจะคิดค้นกลิ่นเพิ่มทุก 3 เดือน เดือนละ 4-5 กลิ่น แต่ตัวเทียนก็ต้องได้มาจากธรรมชาติ
“ตอนแรกเราทำเทียนจากไขถั่วเหลืองอยู่ช่วงหนึ่ง จากนั้นก็คิดต่อว่าข้าวมีน้ำมันรำข้าวน่าจะทำได้เหมือนกัน เลยเปลี่ยนมาใช้ข้าวหอมมะลิไทยที่ชุมชนและบริษัทช่วยกันคิดค้นและพัฒนาขึ้นมา เราใช้เนื้อแว็กซ์ข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ดีจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อเทียนละลายก็เอาน้ำตาเทียนมานวดผิวกายเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ ส่วนไส้เทียนทำจากฝ้ายค่ะ”
และด้วยความที่เทียนมีกลิ่นหอมให้เลือกมากมาย จึงเอาใจลูกค้าด้วยการให้นำตลับเทียนที่ใช้จนหมดและล้างสะอาดแล้ว ไปเปลี่ยนกลิ่นใหม่ได้ในราคาพิเศษ
Suggestion
ชุมชน – คนสร้างงาน พลังสำคัญของ ฐาณิญา 1988
งานชิ้นสวยของ ฐาณิญา 1988 มีทั้งผลิตที่โรงงานเอง และทำงานร่วมกับชุมชน “งานปั้นเซรามิก ช่วงแรกเราทำกันเองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนหลังขยายตลาดมากขึ้นก็เริ่มหาชุมชนเข้ามาช่วย เป็นการทำงานร่วมกัน หรือการวาดลายเราก็คัดคุณภาพของช่าง เราสอนเขาด้วยเทคนิค Grid Scale ที่เราคิดขึ้นมา”
“หรือเวลาพักผ่อนตามต่างจังหวัด เราก็ชวนคนแถวนั้นคุย ไปเจอบางคนเขียนรูปตามวัด เราก็ชวนเขามาทำ บางคนเป็นโดยพรสวรรค์ แต่เขาอาจจะอยู่ในป่าลึก เราไปเจอแล้วหยิบเขาออกมา ทำให้เขามีงาน มีรายได้”
ที่สำคัญคือการให้อิสระช่างฝีมือสร้างสรรค์งานตามความถนัดและแนวทางของแต่ละคน จึงได้ชิ้นงานที่มีความหลากหลาย อย่างเช่น ลายดอกบัว ที่มีหน้าตาแตกต่างกันไปทั้งสายพันธุ์ สีสัน และฝีแปรง ปัจจุบัน ฐาณิญา 1988 มีช่างวาดจากหลายชุมชนรวมกันกว่า 90 คน
จากเครื่องเซรามิกใส่เทียนหอมที่แตกไลน์ออกเป็นของแต่งบ้านสารพัน ทั้งเครื่องกระเบื้อง แจกัน ภาชนะใส่อาหาร ปิ่นโต โคมไฟ ตามด้วยสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าแฟชั่น ให้ชุมชนงานฝ้ายและงานไหมได้มาร่วมสร้างงานสวยแบบไทยร่วมสมัย ยิ่งได้เข้าถึงชุมชนมากเท่าไรยิ่งเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนมากขึ้นเท่านั้น “รู้สึกดีใจนะที่เป็นเหมือนฟันเฟืองเล็กๆ เป็นตัวจุดประกายที่ทำให้สังคมมีการขยายตลาดมากขึ้น”
Suggestion
เพราะพลังใจ จึงก้าวไกลได้ตามฝัน
จากวันแรกเมื่อหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ฐาณิญา 1988 ได้สร้างและสานฝันจนแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในหลายประเทศทั้งเอเซียและยุโรป จนได้รับรางวัล Thailand Top SME Award 2018 ซึ่งกุญแจที่ทำให้ประสบความสำเร็จนั้น เธอบอกว่า “แม็ทช์ว่าสิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง ความรักในสิ่งที่เราทำ และมีความพยายามในการอดทนแล้วก็แน่วแน่ในสิ่งที่ทำ”
“แม็ทช์โชคดีพี่ๆ ทีมงานที่โรงงานที่ช่วยซัปพอร์ตเราในทุกๆ อย่าง มีครอบครัว มีคุณแม่ที่ช่วยสนับสนุน ช่วยออกความคิด รวมถึงกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีส่วนช่วยพัฒนา แนะนำคอร์สที่ช่วยผู้ประกอบการ ทั้งได้เรียนรู้เรื่องการบัญชี การตลาด หรือมีผู้เชี่ยวชาญจากอิตาลีและฝรั่งเศสมาช่วยพัฒนาดีไซน์ให้ตอบสนองตลาดยุโรปได้มากยิ่งขึ้น”
และยังเพิ่มเติมด้วยว่า คิง เพาเวอร์ ซึ่งจำหน่ายสินค้าให้ ฐาณิญา 1988 มาตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้วก็ทำให้มีลูกค้าต่างประเทศอุดหนุนเป็นจำนวนมาก ด้วยพลังใจที่ดี และส่วนหนึ่งจากการมีหน้าร้านที่ คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี นั่นเองที่มีส่วนช่วยทำให้ ฐาณิญา 1988 ก้าวข้ามอุปสรรคและแก้ไขปัญหาที่เข้ามาท้าทาย อย่างสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้การขายหน้าร้านทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศอย่างเยอรมนี ออสเตรีย เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ชะลอตัว แต่การขายออนไลน์คึกคักขึ้นมาแทนที่ และยังคงพัฒนาต่อไปไม่มีวันหยุด
THANIYA1988
ที่ตั้ง : 23/3 ซอยประชาชื่น 12 แยก 1-2-3 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
Facebook: THANIYA1988
Website: THANIYA1988
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: THANIYA1988
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา
ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป–ท่องเที่ยวใกล้เคียง
• MOCA BANGKOK พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามวิจิตร ภายในจัดแสดงงานศิลปะของสะสมของคุณบุญชัย เบญจรงคกุลที่ทรงคุณค่าทุกชิ้น mocabangkok.com
• สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เต็มไปด้วยความร่มรื่นสีเขียวกลางกรุงจากพันธุ์ไม้นานาชนิดจัดเป็นโซนต่างๆ รวมถึงส่วนจัดแสดงนิทรรศการ และพิพิธภัณฑ์เด็ก https://webportal.bangkok.go.th
• อุทยานผีเสื้อและแมลง แหล่งความรู้ที่น่าตื่นตาตื่นใจภายในบริเวณสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นห้องเรียนธรรมชาติให้ได้ชมและศึกษาความงดงามของผีเสื้อและแมลงนานาชนิด