“ปล่อยให้เด็กทำอย่างที่อยากจะทำ แล้วก็ให้เด็กหาตัวเองให้เจอได้เอง ไม่ต้องรีบ เพราะกว่าผมจะเจอตัวเองตั้งอายุ 34 นี่จะให้เด็กรู้ตั้งแต่ 18 เลยเหรอ เจอได้ก็ดี แต่ถ้ายังไม่เจอก็ช่างมัน…อย่าไปฟังคนอื่นมาก”
เรานำประโยคทิ้งท้ายการสนทนากับอาจารย์อภิวุฒิ มินาลัย ขึ้นมาเอ่ยก่อน เพราะคิดว่านี่คือแนวคิดสำคัญของการดำเนินชีวิตของเขา ผู้ที่เป็นแรงผลักดันให้วงดุริยางค์เครื่องเป่าหญิงล้วนจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาไปคว้ารางวัลสำคัญๆ ทั้งระดับประเทศและระดับโลกมาแล้วมากมาย
Thaipower.co ติดตาม “ผลงาน” คอนดักเตอร์หนุ่มผู้นี้มาระยะหนึ่งจากความสำเร็จของวงโยธวาทิตโรงเรียนสุรนารีวิทยา วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับผู้คุมวงคนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอัจฉริยะทางดนตรีของเขา ความสนใจ ความเป็นครู และภารกิจในการ “สร้างคน” ดนตรี ให้กับประเทศนี้…จะเรียกว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตามแต่
จากคำพูดดังกล่าวของตัวเขา ทำให้รับรู้ได้ว่ากำลังสื่อความคิดไปถึงทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง ให้เลิกตัดสินว่าอาชีพนักดนตรีนั้นด้อยค่ากว่าอาชีพอื่น
แต่ก็น่าสงสัย…ว่าทำไมเขาเพิ่งมาเจอความเป็นตัวเองตอนอายุ 34 ทั้งที่เขาได้ออกผจญภัยในเส้นทางดนตรีมากว้างไกล เห็นโลกมากกว่าครูดนตรีหลายคนในประเทศนี้ด้วยซ้ำ
ประโยคที่เอ่ยมาเป็น “แนวคิด” หรือ “ปมในใจ” กันแน่!?!
“ความทุ่มเทสำหรับเด็กไทยมีเยอะกว่า เพียงแค่เด็กไทยไม่มีเทคนิค ถ้าเด็กไทยรู้เทคนิคก็คงทำได้เช่นกัน” – อภิวุฒิ มินาลัย ครูสอนดนตรีและผู้ควบคุมวง Suranaree Girls Wind Symphony โรงเรียนสุรนารีวิทยา จ.นครราชสีมา กล่าวถึงโอกาสสำหรับนักดนตรีเยาวชนไทยจะไปไกลได้ในระดับโลก
Suggestion
…ชัยชนะที่ไม่ธรรมดา…
Suranaree Girls Wind Symphony วงเครื่องลมหญิงล้วนฝีมือฉกาจของโรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา การันตีด้วยรางวัลทั้งในประเทศและระดับนานาชาติมามากมาย ที่โดดเด่น คือ ชนะเลิศการประกวด Thailand International Wind Symphony Competition 2019 (TIWSC) ที่เป็นการจัดร่วมกันของ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ กับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยชนะเลิศรางวัลถ้วยพระราชทานฯ การประกวดวงโยธวาทิต นักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย จัดโดยกรมพลศึกษามาหลายครั้ง และเมื่อปี 2563 ได้เดินทางไปยังกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เพื่อแข่งขันวงดุริยางค์เครื่องลมบรรเลงนานาชาติ ครั้งที่ 22 International Festival of Wind Orchestras Prague 2020 คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทนักเรียน (Middle Class) รางวัลเหรียญทองเกียรตินิยม ด้วยคะแนนสูงสุด 95.33 คะแนน และอีกหลายรางวัล
เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักดนตรีและครูสอนดนตรีที่ควบตำแหน่งวาทยกรไว้ด้วยอาจารย์อภิวุฒิ มินาลัย หรือ “อาจารย์จุ๊น” ของเด็กๆ สุรนารีวิทยานั่นเอง
Suggestion
…เด็กไม่เก่งวัดกันตรงไหน…
“ผมเป็นเด็กไม่มีค่าเลยนะมาจากต่างจังหวัดจบม.6 เกรดเฉลี่ย 1.06 ไม่มีทางเข้ามหาวิทยาลัยได้แน่ๆ แต่เพราะดนตรีทำให้ผมได้เปลี่ยนชีวิตได้”
แม้จะเกิดที่กรุงเทพฯแต่ด.ช.อภิวุฒิต้องไปใช้ชีวิตวัยเด็กกับคุณยายที่จังหวัดนราธิวาสเพราะคุณแม่ลัดฟ้าไปทำงานพยาบาลที่ออสเตรเลียจนกระทั่งถึงวัยเข้าชั้นมัธยมแม่จึงกลับไปรับมาเริ่มเรียนที่โรงเรียนวัดสุทธิวรารามจากเด็กชนบทอยู่กับทุ่งนาและทะเลมาอยู่โรงเรียนที่โดดเด่นเรื่องฟุตบอลและดุริยางค์ยิ่งเขาบอกตัวเองเสมอมาว่าไม่เก่งด้านวิชาการก็ต้องฝึกตัวเองให้มีความสามารถให้ได้สักด้าน
“ไปสมัครเล่นบอลก่อนแต่ก็ไม่ผ่านคัดตัว ผมไม่มีเบสิกอะไรเลย เห็นวงโยธวาทิตเล่นเพลงชาติก็ลองไปสมัครบ้าง อยู่ในวงเขาก็สอนระเบียบแถวก่อน เรียนซอยเท้า ขวาหันซ้ายหัน เอามือขึ้น เอามือลง สะบัดมือ เลียนแบบทหารอะนะ เรียนระเบียบแบบนั้นก่อนประมาณเทอมครึ่ง จนปิดเทอมสองถึงจะมีเครื่องดนตรีมาให้เลือกเล่น” เขาตัดสินใจเลือกเล่นแคลริเน็ต ก็ฝึกเป่าไปเรื่อยๆ ออกตัวก่อนเลยว่าเป็น “ตัวถ่วง” เพราะเรียนรู้ได้ค่อนข้างช้ากว่าคนอื่นๆ ถูกทำโทษด้วยการไปวิ่งอยู่บ่อยๆ
“ผมเป็นคนไม่ฉลาดแต่ผมอาศัยซ้อมบ่อยกว่าเพื่อนสมมติเพื่อนกลับหนึ่งทุ่มผมกลับสี่ทุ่มเพื่อนมา 7 โมงผมมาตี 4 ตี 5 จะซ้อมก่อนคนอื่นที่โรงเรียนเป็นระบบรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง…สอนรุ่นน้องแต่จะมีอาจารย์มารวมวงให้ในวันพุธศุกร์เสาร์คืออาจารย์สุรพล ธัญญวิบูลย์ และ อาจารย์นิพัต กาญจนะหุต ซึ่งตอนนี้สอนอยู่ภาควิชาดนตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ครูจะมีเทคนิคมาสอนเยอะ เวลาเป็นคอนดักเตอร์ให้อารมณ์ให้แรงบันดาลใจมาก อยากเป็นแบบครูเลย อยากเก่ง อยากเป็นคอนดักเตอร์แบบนั้นบ้าง”
ผลจากการซ้อมเยอะทำให้ช่วงมัธยมปลายเริ่มมีฝีมือมากขึ้น ออกไปเล่นกับวงข้างนอกโรงเรียนได้ ตั้งแต่วงตามมหาวิทยาลัยไปจนถึงวง Thai Youth Orchestra ได้เล่นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย “ตอน ม.6 ผมเป็นมือแคลริเนต เบอร์ 1 ของวง เป็นหัวหน้าวงด้วย รู้สึกว่าตัวเองเก่งที่สุดในโลกแล้วตอนนั้น เพราะผมมาจากคนโง่มากๆ จนมาอยู่จุดนั้น”
และในที่สุดเด็กวัดสุทธิฯที่จบม.6 ด้วยเกรดเฉลี่ย 1.06 ก็สอบเข้าเรียนคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสาขาดนตรีสากลได้ด้วยความสามารถล้วนๆ
✔️ ถ้ารู้ว่าตัวเองไม่เก่ง ก็ต้องซ้อมให้มากกว่าคนอื่น
Suggestion
…“นี่หรือ ชีวิตนักดนตรี”…
อยู่จุฬาลงกรณ์ฯอภิวุฒิก็เข้าร่วมวง CU Symphony Orchestra และพยายามออดิชั่นไปเล่นในวงต่างๆ จนมีโอกาสได้เล่นในวง Bangkok Symphony Orchestra โลดแล่นอยู่ในโลกดนตรีไปจนใกล้จบมหาวิทยาลัยก็เริ่มรู้สึกว่าไม่สนุก
“มันเป็นสังคมของคนเก่งน่ะ ไม่สนุกเลย ดนตรีที่ผมคิดว่าเล่นเพื่อที่จะปลดปล่อยอารมณ์ให้มีความสุขเหมือนตอนเล่นดนตรีกับอาจารย์เมื่อตอนเด็ก แต่นี่แบบเล่นผิดไม่ได้เลยที่รู้สึกแย่ที่สุดเลย คือเพื่อนๆ พี่ๆ ที่คณะ พอมีวงเปิดให้ไปออดิชั่นก็ไม่บอกกันเลยว่ามีเปิดที่ไหนแต่ไปเจอกันหน้าห้องออดิชั่น อ้าว…มาเหมือนกันเหรอผมเลยเกลียดภาพนั้นมาก!!”
เพราะวง Symphony Orchestra บ้านเรามีไม่กี่วง ที่นั่งของนักดนตรีมีไม่กี่ที่ทุกคนต้องแย่งชิงกันเป็นที่หนึ่ง “ในเมืองไทยนะถ้าเอ่ยถึงคนเล่นแคลริเน็ตแล้วไม่มีเราใน 5 ชื่อแรก ออร์เคสตรามันมีอยู่ 2 วง แล้วจะได้ไปเล่นได้ยังไง ก็ต้องถีบตัวในอันดับต้นๆ นั้นมีอาจารย์ผมไปแล้ว 2 คน เด็กรุ่นเดียวกันอีก 8-9 คน มหาวิทยาลัยอื่นอีกล่ะ เอาแค่ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยเดียวกัน คณะศิลปกรรมกับครุศาสตร์ก็ต้องแข่งกันเองอีก ไม่มีความสุขหรอกครับ”
จบปี 4 อภิวุฒิเริ่มต้นงานแรกด้วยการไปสอนวงโยธวาทิต โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งกำลังเตรียมตัวลงประกวด Marching Band ที่จัดโดยกรมพลศึกษา ซึ่งต้องมีทั้งขบวนพาเหรดเข้าสนาม นั่งบรรเลง และแปรขบวนในสนาม “ผมกลับรู้สึกว่าสนุก เด็กแคลริเน็ตเป็นสิบคน ได้เห็นเด็กจากเป่าไม่ได้จนเป่าได้ พอไปแข่งก็ได้รางวัล เห็นเด็กร้องไห้ดีใจ เริ่มกลับมาอินกับ Marching Band เริ่มอยากรู้ให้มากขึ้นกว่าเดิม”เมื่อความอยากรู้มาพบกับความสนุกก็ไม่มีอะไรจะรั้งเขาได้
Suggestion
โลกกว้าง…ทางไกล
เมื่อประมาณ 18 ปีที่แล้ว ศาสตร์ด้านนี้ไม่มีในเมืองไทย เขาจึงขอไปเป็นอาสาสมัครที่อเมริกากับวง The Phantom Regiment ของรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งวงนี้ได้เข้าร่วมการแข่งขัน Drum Corps International เป็นการแข่งขันมาร์ชชิ่งแบนด์ที่จัดเป็นฤดูกาลใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จาก 40 วง ค่อยๆ ทัวร์แข่งไปทั่วอเมริกาเพื่อให้ได้ผู้ชนะ 3 วงสุดท้าย
“ผมก็ได้ไปดูตั้งแต่ออดิชั่น เริ่มเข้ารูปขบวน เริ่มซ้อมเพลง เริ่มทัวร์แข่งไปทั่วอเมริกา 20 กว่ารัฐ วันนี้แข่งที่อิลลินอยส์ พรุ่งนี้ไปแคลิฟอร์เนีย อีก 2 วันนั่งรถไปไวโอมิง อีกอาทิตย์นึงไปฟลอริดา ได้เห็นเต็มๆ ว่าการทัวร์แข่งมาร์ชชิ่งแบนด์มันเป็นยังไง สมัยนั้นการแข่ง Drum Corps จะใช้แค่เพอร์คัชชันกับบราส คนเป่าแคลริเน็ตแบบผมไม่สามารถสอบเข้าไปร่วมวงได้อยู่แล้ว ได้แต่เข้าไปช่วยงานเขาและลงเรียนใน Conductor Camp ไปด้วย นี่ละหลักสูตรการเรียนรู้ที่ใช้เวลาสั้นที่สุดของผม”
หลังจากที่เด็กหนุ่มวัย 23 ได้ออกเรียนรู้โลกกว้าง เขาก็กลับมาพานักเรียนบดินทรเดชาคว้ารางวัลอีกเช่นเคย แต่คราวนี้เขาเริ่มรู้สึกว่าอยากรู้เรื่อง Concert Band หรือวงนั่งบรรเลงนอกเหนือไปจากการแปรขบวน
✔️ การเล่นดนตรีไม่มีทางลัดอยากเล่นให้ ได้ดีก็ต้องลงมือฝึกฝน
“เผอิญบดินทรเดชาจ้างอาจารย์จากญี่ปุ่นมาสอนตีธง (Color guard) เป็นการสร้างสีสันให้วง ซึ่งยังเป็นศาสตร์ใหม่สำหรับคนไทยอยู่ คนสอนคือ คุณคิโยคัตสึ ซากิเนะ มาจากวงชื่อ Aimachi Marching Band ของเมืองนาโกยา คือช่วงที่ญี่ปุ่นพักการแข่งขันก็ตรงกับช่วงเราจะแข่งพอดี คนในวงเขาก็กระจายตัวมาเป็นโค้ชในเมืองไทย คนสอนเครื่องเป่าอยู่โรงเรียนหอวัง คนสอนตีธงอยู่บดินทรเดชา คนสอนกลองอยู่ยอแซฟอุปถัมภ์ เจ้าของวงไอมาชิก็จะไปเยี่ยมเยียนตามโรงเรียน และดูการแข่งขันไปด้วย พอดีวันนั้นวงเราแข่งชนะโดยผมเป็นคอนดักเตอร์ เขาก็เข้ามาคุยด้วยบอกให้ผมบินไปลองซ้อมกับวงเขาที่ญี่ปุ่นดู เพราะเขากำลังต้องการคอนดักเตอร์อยู่พอดี”
อภิวุฒิเดินทางไปทดลองเป็นวาทยกรให้กับวงไอมาชิอยู่ 5 วัน ทางวงได้ขอให้ลงแข่งขันรอบแรกที่นาโกยาคว้าชัยชนะมาได้ จึงได้ลงแข่งรอบต่อๆ ไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ และได้ร่วมงานกับ Aimachi Marching Band ต่ออีก 6 ปี พาวงคว้ารางวัลระดับประเทศได้ถึง 4 ครั้ง
“ที่ญี่ปุ่นเขามีวงดนตรีแบบนี้เยอะมาก ตามโรงเรียนก็มีชมรมที่จริงจัง ระหว่างที่เป็นคอนดักเตอร์ให้ไอมาชิผมก็ได้รับงานสอนตามวงอื่นๆ ด้วย ผมพูดอังกฤษ เพื่อนญี่ปุ่นก็ช่วยแปล หารายได้ไปพร้อมๆ กับดูว่าวงญี่ปุ่นเขาทำกันยังไงทำไมเสียงดนตรีเขาเพราะ ทำไมทั้งวงถึงเล่นได้กลมกลืน เขามีวิธีสอนคนเล่นยังไง”
จากนั้นก็คิดจะกลับมาสอนที่เมืองไทย แต่เพื่อนที่สิงคโปร์ก็ชักชวนให้ไปรับงานสอนที่นั่น เพราะสิงคโปร์ก็มีการจัดแข่งขัน Singapore Youth Festival (SYF) เช่นกัน พื้นที่ประเทศเล็กๆ แต่มีวงอยู่ร่วม 250 วง “สิงคโปร์จะใช้วิธีจ้างคนเก่งๆ ไปสอน แต่ผมว่าความทุ่มเทเด็กไทยมีเยอะกว่า แค่เด็กไทยไม่มีเทคนิค ถ้าเด็กไทยรู้เทคนิคแบบญี่ปุ่นแบบอเมริกันก็คงทำได้เช่นกัน”
แอบตั้งเป้าหมายในใจว่าจะพาเด็กไทยมาชนะสิงคโปร์และได้เล่นใน Esplanade Hall ให้ได้
Suggestion
เริ่มต้นชีวิต “เด็กสุรนารี”…มีเป้าหมายไกลไปอินเตอร์
เดินทางท่องโลกเสียนาน เริ่มได้สร้างผลงานในบ้านเกิดเสียที เมื่อปี 2551 อาจารย์อดุลย์ เปลื้องสันเทียะ ผู้ดูแลวงโยธวาทิต โรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา ได้ชักชวนให้อภิวุฒิมาสอนที่โรงเรียน เพราะเคยไปชมการแข่งขันที่ญี่ปุ่นและเห็นฝีมือของเขามาแล้ว โจทย์แรกคือ จะพาเด็กไปแข่งขันในงาน World Music Contest 2009 (WMC)
“ผมก็มาสอนพวกเครื่องเป่า กลอง… เอาเทคนิคจากอเมริกาและญี่ปุ่นมาสอนเด็ก ปี 2009 เราก็ชนะที่ แกร์กราเดอ ประเทศเนเธอร์แลนด์” งานนั้นไม่ใช่ชนะธรรมดานะ แต่ได้รางวัล Top of the World Championship เป็นอันดับ 1 ของโลกประเภท Display ได้คะแนน 95.40 เป็นสถิติสูงสุดที่เมืองไทยเคยทำได้เสมอมา
จากนั้นกระแสความนิยมของ Marching Band เริ่มลดลง การเดินแถวแปรขบวนเริ่มน้อยลง เขาเริ่มผลักดันให้มีการเล่นแบบ Concert Band ให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีความรู้ความชำนาญด้านดนตรีมากกว่าการซ้อมเพียง 4-5 เพลงทั้งปี เพื่อใช้ในการแปรขบวน สุรนารีวิทยาออกไปคว้ารางวัลระดับประเทศและระดับนานาชาติมากมาย ร่วม 40 รางวัล
“ทุกๆ สองปีจะมีแข่งขัน Singapore International Band Festival (SIBF) ในปี 2014 – 2016 – 2018 สุรนารีชนะหมดเลย” เป็นการพิสูจน์ความเชื่อของเขาว่าเด็กไทยมีศักยภาพสูงถ้าได้รับการสอนที่ดีก็สามารถคว้าชัยชนะได้และการชนะในปี 2018 นั้นวง Suranaree Girls Wind Symphony ก็ได้เล่นใน Esplanade Hall อย่างที่ตั้งใจไว้”
✔️ มีความฝัน ทำในสิ่งที่มีความสุข แล้วเราจะเจอตัวเองได้เอง
Suggestion
ความสุขของครูดนตรี
“ความสุขของผมเริ่มตอนสี่โมงครึ่ง โรงเรียนเลิกปุ๊บ เด็กมาที่ห้องวงโยธวาทิต เรียงรองเท้าเป็นระเบียบ วางกระเป๋าเป็นระเบียบเหมือนญี่ปุ่นเลย แต่ละคนรวมกลุ่มซ้อม เทียบเสียงเครื่องดนตรีรอ พอ 5 โมงเป๊ะ ทุกคนนั่งในวงเรียบร้อย โน้ตดนตรีวางเป็นระเบียบ เราทุกคนเริ่มซ้อมเพลงที่เราอยากเล่น เรามีเสียงดนตรีที่ดีร่วมกัน เราเหนื่อย เราท้อ มีปัญหาก็ร่วมกันแก้ไข เห็นเด็กมีความสุขด้วยกัน เห็นเด็กร้องไห้ หัวเราะ จากเล่นดนตรีไม่เป็นจนกลายเป็นหัวหน้าทีม จนจบไปมีงานทำ บางคนเป็นนักดนตรีที่ดีกว่าผม จนผมต้องซื้อบัตรไปดูลูกศิษย์ที่เคยสอนเล่นก็มี”
เพราะการเล่นดนตรีไม่มีทางลัด อยากเล่นให้ได้ดีทางหลักที่ต้องทำ คือซ้อมให้หนัก และถ้าความสุขอยู่ที่ได้เล่นดนตรี นักดนตรีที่แท้จริงก็จะมีความสุขตลอดทุกครั้งที่ได้ซ้อม ที่สำคัญอย่าได้ยึดความคิดว่า play to win แต่ให้ play music for music เล่นดนตรีเพื่อดนตรี…
✔️ ถ้าแพ้การแข่งขันก็ควรตบมือให้คนชนะเพราะเขาทำให้เรามีมาตรฐานที่สูงขึ้นเขาคือผู้พัฒนาเรา
“ผมบอกเด็กเสมอว่า ถ้าแพ้เราควรจะยืนตบมือให้คนชนะ เพราะเขาทำให้เรามีมาตรฐานที่สูงขึ้น เขาคือผู้พัฒนาเราไม่ใช่คู่แข่ง การประกวดมันก็แค่คะแนนจากความชอบของกรรมการเพียง 4-5 คน แล้วจะให้คนไม่กี่คนนั้นทำให้เราหมดกำลังใจและเลิกเล่นดนตรีเหรอ ถ้าแพ้เราก็ต้องมาดูว่าเราแพ้เพราะอะไร แล้วปรับปรุงตัวเองเพื่อที่จะข้ามข้อบกพร่องนั้นไปให้ได้”
ปี 2557 อาจารย์อดุลย์เกษียณอายุราชการ อภิวุฒิก็ตัดสินใจอ่านหนังสือ เข้าค่ายติวอย่างหนักเพื่อสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูให้ได้ ในตอนนั้นเขาอายุ 34 หลายคนอาจคิดว่าช้าไป แต่เขารู้แล้วว่าวันนี้เขาพร้อม “ทำได้ทุกอย่างไม่ว่างานเอกสาร สอนวิชาลูกเสือ คุมอาหารกลางวัน มาแจกถาดอาหารเด็ก ไม่ว่าถนัดหรือไม่ก็ตาม เพื่อเป็นสิ่งการันตีว่าผมจะได้สอนเด็กเล่นดนตรีต่อไป”
ตอนนี้โรงเรียนสุรนารีวิทยามีโครงการห้องเรียนพิเศษดนตรี รับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ชั้นปีละประมาณ 20 คน มาเรียนลงลึกด้านดนตรีทั้งด้านวิชาการและฝีมือการบรรเลง
ทำไม? ต้องรีบหาตัวเองให้เจอ
“ตอนจบ ม.6 ที่โรงเรียนวัดสุทธิฯ ผมก็รู้สึกเศร้า ว่าผมจะไม่ได้เล่นดนตรีกับรุ่นพี่รุ่นน้องอีกแล้ว พอมาเป็นข้าราชการครู ผมก็จะได้เล่นดนตรีอยู่เด็กไปเรื่อยๆ เอาเข้าจริงๆ ยิ่งเศร้ากว่าเดิม เพราะเหมือนผมต้องจากเพื่อน ม.6 ทุกปีเลย แต่ก็ไม่เป็นไรเราก็จะฝึกฝนคนใหม่ๆ และทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ”
แม้จะเป็นห้องเรียนพิเศษดนตรี และวงของโรงเรียนไปชนะรางวัลระดับโลกมามากมาย แต่ “อาจารย์จุ๊น” ก็ไม่ได้คาดหวังให้จบไปเป็นนักดนตรีทุกคน ขอแค่ให้มีจุดมุ่งหมายของชีวิตว่าจะใช้ดนตรีไปทำให้เกิดประโยชน์ อาชีพที่เกี่ยวพันกับดนตรีและเสียงเพลงยังมีอีกมากมาย
“ทำไมต้องรีบให้เด็กหาตัวเองให้เจอ เพราะกว่าผมจะเจอตัวเองตั้งอายุ 34 นี่จะให้เด็กรู้ตั้งแต่ 18 เลยเหรอ…” เพราะเขาเห็นผู้ปกครองและคนในสังคมมักตัดสินความสำเร็จของคนที่รายได้จากการทำงาน จนเด็กหลายคนต้องหันไปเดินเส้นทางที่ตนเองไม่ได้รักที่จะทำ แค่ไม่อยากให้ถูกตราหน้าว่าเป็นคนล้มเหลว “…ให้เขาได้ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งแบบมีความสุข มีความหวัง รู้จักทำงานร่วมกับคนอื่น และคิดถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง แค่นี้ผมแฮปปี้แล้ว”แรงบันดาลใจจากชีวิตสมัยมัธยมของเขา…ไม่เคยจางจริงๆ
ถอดรหัสพลังใจเพื่อชนะใจตนเอง
✔️ ถ้ารู้ว่าตัวเองไม่เก่ง ก็ต้องซ้อมให้มากกว่าคนอื่น
✔️ การเล่นดนตรีไม่มีทางลัด อยากเล่นให้ได้ดีก็ต้องลงมือฝึกฝน
✔️ ถ้าแพ้การแข่งขันก็ควรตบมือให้คนชนะ เพราะเขาทำให้เรามีมาตรฐานที่สูงขึ้น เขาคือผู้พัฒนาเรา
✔️ มีความฝัน ทำในสิ่งที่มีความสุข แล้วเราจะเจอตัวเองได้เอง