People

ทองสิริ ปุกแก้ว ส่งฝีมือชาวบ้าน
สู่ผ้าครามสร้างชื่อสกลนคร

วรากร เพชรเยียน 13 Jun 2022
Views: 666

ทองสิริ ปุกแก้ว ส่งฝีมือชาวบ้าน

สู่ผ้าครามสร้างชื่อสกลนคร

เรื่อง วรากร เพชรเยียน / ภาพ THONGSIRI INDIGO BLUE

 

ต้นคราม นับเป็นพื้นล้มลุกตระกูลถั่วที่ปลูกได้ง่าย เป็นที่นิยมปลูกในจังหวัดสกลนคร ถึงขั้นขึ้นชื่อเป็น นครหัตถศิลป์โลกเจ้าแห่งครามธรรมชาติ (World Craft City for Natural Indigo) ได้รับการยกย่องจากสภาหัตถศิลป์โลก ในจังหวัดสกลนครจึงเป็นแหล่งผ้าย้อมครามที่มีชื่อเสียง และเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย

ผ้าทอมือลายครามจากแบรนด์ทองสิริผ้าคราม ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มองเห็นความสวยงามของสีคราม นำมาผสมกับภูมิปัญญาการทอผ้าไทย ด้วยการเริ่มต้นของ คุณทองสิริ ปุกแก้ว เจ้าของแบรนด์ทองสิริผ้าคราม ที่เชิญชวนคนในหมู่บ้าน ในอำเภอมาร่วมกันก่อตั้งเป็นกลุ่มทอผ้า เริ่มจากวางขายในราคาผืนละไม่กี่ร้อยบาท มาถึงวันที่ได้รับรางวัลสินค้าโอท็อป 5 ดาว และได้มาตรฐานอีกมากมาย ทั้งยังวางจำหน่ายในหลายจังหวัดและที่ตั้งอวดโฉมอยู่บนชั้นวางของ คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี

“เรารักในสิ่งที่เราทำ รักในสิ่งที่เราสืบทอด เพราะว่าถ้าเราไม่สืบทอดต่อตอนนี้แล้วใครจะทำต่อจากเรา เราก็ทำต่อไปเรื่อยๆ”

                                ทองสิริ ปุกแก้ว แห่ง ทองสิริผ้าคราม

 

ทั้งหมดนี้เริ่มต้นมาจากความรัก และสานต่อด้วยหัวใจที่อยากจะส่งต่อผลงานผ้าไทย ภูมิปัญญาไทยสู่สายตาของคนรุ่นใหม่ จนเป็นหนึ่งในแบรนด์สร้างชื่อของจังหวัดสกลนคร

 

มองเห็นฝีมือของคนในชุมชนแล้วนำมาต่อยอด

 

ร่วมหุ้น ขายผ้าในตลาด

ก่อนจะเกิดเป็นแบรนด์ทองสิริผ้าคราม แบรนด์ผ้าทอที่มีเอกลักษณ์ได้อย่างทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นมาจากการสืบสานภูมิปัญญาผ้าทอจากบรรพบุรุษมาก่อน

“แต่ก่อนเราทอใส่ ไม่ได้ทอขาย พ่อแม่ก็ปลูกครามแล้วก็เอามาย้อม ทอใส่เอง ก็เลยเอามาเป็นแรงบันดาลใจได้มาจากบรรพบุรุษ” คุณทองสิริเรียนรู้วิธีการทอผ้าใส่เองมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กจากวิถีชีวิตแบบคนสมัยก่อนที่ทอผ้าใส่เอง ปลูกครามไว้ใช้ในครัวเรือน ปลูกเอง ย้อมเอง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นำเอาความสวยงามของการทอผ้าไทยมาขยับขยาย

 

ผ้าทอชิ้นแรก ๆ ที่นำออกมาขายก็เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยมีคุณทองสิริเป็นผู้เชิญชวนให้เพื่อนๆ ที่ทอผ้าสวยมาทำงานร่วมกันและจัดตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าขึ้น “ทีแรกมีกันสิบห้าคน เราก็คุยกันว่าใครสนใจ เรามาตั้งกลุ่มกันดีไหม เอาทุนมาลงก่อน คนละสิบบาท สิบห้าคนก็ได้ร้อยห้าสิบ” ทำเหมือนการลงหุ้นกันจากคนในชุมชน ในอำเภอจังหวัดสกลนคร จากนั้นจึงนำไปสู่การผลิต

เริ่มจากการปั่นฝ้าย ทางกลุ่มมีการทำดอกฝ้ายเอง บ้านไหนปลูกดอกฝ้ายก็เอามารวมๆ กัน แล้วจึงต่อยอดออกมา ครั้งแรกที่เริ่มทอ เริ่มต้นจากการทำหนึ่งกี่ก่อน ทอได้ประมาณยี่สิบผืน ก็นำไปวางขาย ส่วนต้นครามนั้นเป็นที่นิยมปลูกกันอยู่แล้ว และมีการใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันจึงนำมาใช้เป็นสีย้อม

สมัยนั้นราคาผ้าฝ้ายทอมือยังไม่สูง ขายได้แค่ผืนละร้อยห้าสิบบาท ลองนำไปวางขายตามตลาด จนมีลูกค้ามาอุดหนุน ใช้แล้วถูกใจ จึงได้มีการเข้าอบรมอย่างจริงจังกับหน่วยงานต่างๆ จนสามารถต่อยอดมาเป็นแบรนด์ทองสิริผ้าครามอย่างทุกวันนี้

 

ลองผิดลองถูก พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ

 

 

พัฒนาไม่มีหยุด แปรรูปผ้าผืนเป็นผลิตภัณฑ์ทันสมัย

“ถ้าดูภายนอกอาจจะใกล้เคียงกับที่อื่น แต่พอมาสัมผัสเนื้อผ้า จะมีความรู้สึกว่าผ้าของเราเนื้อนุ่ม ใส่สบาย สีไม่ตก” ความละเอียดในทุกเส้นที่ทอและคุณภาพเป็นอีกหนึ่งอย่างที่คุณทองสิริใส่ใจ แม้ว่าความสำเร็จจากการวางขายผ้าจะทำให้ต้องขยับขยายกลุ่มคนทอผ้า จากเดิมที่มีสมาชิกในกลุ่มเพียงสิบห้าคนมาเป็นสองสามร้อยคน แต่เรื่องคุณภาพก็ยังถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ต้องมีการควบคุม ด้วยการคัดช่างระดับครูช่างมาเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของการทอผ้า จึงทำให้ผ้าครามของทองสิริผ้าครามออกมาเป็นผ้าที่สวมใส่สบาย และได้คุณภาพ

จากผ้าทอผืนก็ถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงผ้าทอของชาวบ้านได้ง่ายขึ้น “เราแปรรูปหลายอย่าง เราช่วยกัน ลูกชายด้วย แล้วก็เราด้วย บางทีก็ออกแบบวัยรุ่นบ้าง กลางคนบ้าง มันทำได้หลายอย่าง ทำกระเป๋า กระเป๋าเป้ เราก็ลองผิดลองถูก ว่าตัวไหนโดนใจลูกค้า”

โลกหมุนเร็วขึ้นเท่าไร แบรนด์ทองสิริผ้าครามก็ต้องก้าวให้ทันตาม พยายามออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงามในแบบที่คนสมัยใหม่สามารถใช้ได้ ไม่เพียงเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ แต่เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักผ้าทอ และผ้าลายครามที่เป็นภูมิปัญญาไทย

นอกจากความสามารถในการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นที่นิยมและเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้นแล้ว ความใส่ใจในทุกเส้นทอยังทำให้ได้รับรางวัล OTOP 5 ดาว ยิ่งเป็นการการันตีว่าผลิตภัณฑ์ที่นำออกมาวางจำหน่ายมีคุณภาพ ได้รับการคัดสรรจากกรมพัฒนาชุมชน มีเครื่องหมายทางการค้า และลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของทองสิริโดยเฉพาะ

 

เป็นส่วนหนึ่งของความภูมิใจที่ได้สืบสานต่อผ้าไทย

แม้จะเป็นเพราะความคิดริเริ่ม และมองเห็นฝีมือการทอผ้าของชาวบ้านจนนำมาสู่การจัดตั้งเป็นกลุ่มทอผ้า และพัฒนามาเป็นแบรนด์ที่สามารถวางขายในท้องตลาด ได้รับรางวัลต่าง ๆ มาแล้วมากมาย รวมถึงวางขายใน คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เพื่อโชว์ความสวยงามให้กับชาวต่างชาติได้เห็น ทั้งหมดนี้คุณทองสิริทำขึ้นมาได้จากความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และในภูมิปัญญาแบบไทย ๆ

นอกจากนี้คุณทองสิริ ยังมีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าและการย้อมผ้าครามให้กับคนที่สนใจ นักเรียน นักศึกษาให้เข้ามาศึกษา เพื่อให้ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยยังสืบต่อไป “ภาคภูมิใจที่เรามีโอกาสให้ความรู้กับคนอื่นเขา ถ้ามีใครสนใจแม่ก็ยินดีที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาตรงนี้ให้ เพราะว่ารู้สึกว่ามันมีคุณค่ากับเรามาก แต่ก่อนเราก็ลำบาก มาทำตรงนี้มันก็ดีขึ้น อยากให้ลูกหลานใส่ใจตรงนี้”

ไม่เพียงนักเรียน นักศึกษา หรือแม้กระทั่งคนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาศึกษาการทำผ้าครามจากคุณทองสิริเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนจากต่างประเทศด้วย “เมื่อก่อนยังไม่มีโควิด มีญี่ปุ่น อเมริกา มีมาหลายประเทศที่มาเรียนรู้การย้อมคราม มาเรียนรู้กระบวนการ ต้นครามเป็นยังไง ก่อนจะมาเป็นเนื้อครามในการย้อม ขั้นตอนการก่อหม้อครามหรือปรุงครามเพื่อย้อมต้องทำยังไง หลายคนก็กลัวว่าสอนเขาหมด ถ้าเขาไปทำเองได้จะทำยังไง ทำได้ก็ดีจะได้สืบทอดด้วยกัน”

 

ปรับเปลี่ยนและวางแผนการทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

อุปสรรคจากภายนอกเข้ามาให้ได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลง

คุณทองสิริเล่าว่า ก่อนหน้าที่โควิด-19 จะระบาด แบรนด์ทองสิริยอดการสั่งซื้อเป็นจำนวนมากจนต้องขยับขยายกลุ่ม “พอดีเราได้ออร์เดอร์ เราก็ขยายเครือข่าย สมาชิกก็มีต่อๆ กันทั้งอำเภอ ตอนนั้นส่งแต่ละวันก็เยอะอยู่นะ” และยังมีต่างชาติเข้ามาติดต่อให้นำไปวางขายในต่างประเทศ ส่งขายตามห้างและได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จากยอดการสั่งสินค้าเข้ามาลอตแรกร้อยผืน ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ไปพร้อมกับการที่แบรนด์ทองสิริพัฒนาสินค้าออกมาเป็นสินค้าแปรรูปจากผ้าทอย้อมคราม ซึ่งการวางขายใน คิง เพาเวอร์ ก็ถือเป็นอีกช่องทางที่ทำให้คนต่างชาติได้มองเห็นฝีมือของคนไทย

แม้ในปัจจุบันจะมีอุปสรรคภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ อย่างสถานการณ์โรคระบาด และราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น แต่คุณทองสิริและลูกชายก็ไม่หยุดพัฒนาสินค้า ปรับปรุงแผนการผลิตสินค้าให้เข้ากับสถานการณ์ “เมื่อก่อนเป็นการวางแผนการผลิตล่วงหน้า แต่ว่าตอนนี้วางแผนการผลิตตามออร์เดอร์ แล้วแต่สถานการณ์”

แม้จะปรับลดการผลิตลงเพื่อลดการคงคลังของสินค้า เจอกับสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ คุณทองสิริก็ยังคงจะตั้งมั่น ตั้งใจที่จะพัฒนาผลิตสินค้าต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นเพราะรักในภูมิปัญญาที่ตัวเองได้เรียนรู้มาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก และเพื่อให้คนอื่นๆ ได้ช่วยกันสืบต่อ เป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง

“เรารักในสิ่งที่เราทำ รักในสิ่งที่เราสืบทอด เพราะว่าถ้าเราไม่สืบทอดต่อตอนนี้แล้วใครจะทำต่อจากเรา เราก็ทำต่อไปเรื่อยๆ”

 

ผ้าทอจากหัวใจ ส่งต่อด้วยความรัก

“ผ้าย้อมครามช่วยให้ผิวพรรณผุดผ่อง แล้วมันก็เป็นสมุนไพรในตัวด้วย มันก็มีเสน่ห์ในตัวนะผ้าย้อมคราม”

การทำผ้าย้อมครามนี้ ไม่เพียงเป็นงานที่สร้างรายได้ให้กับคุณทองสิริเท่านั้น แต่ยังช่วยกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านได้มีเงิน ด้วยการผลิตและส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย ใช้ความรู้เรื่องการทำครามมาสร้างสรรค์เป็นผ้า ที่มีตั้งแต่การย้อมเส้นด้ายแล้วนำมาทอ ไปจนถึงการทอเป็นผืนแล้วนำมาย้อม ใช้ความรู้และความประณีตในการทำ ทุกอย่างนี้ไม่ง่าย และต้องใช้ใจทำ

“ใจแหละค่ะ ใจมากกว่า ใจรัก ใจสู้ ไม่ง่ายนะทำผ้าทอ หลายขั้นตอนมาก แต่ถ้าไม่มีใจรักตรงนี้จะทำไปไม่ได้เลย” แม้จะอายุมาก 68 ปีแล้ว แต่คุณทองสิริก็คิดจะทำต่อไปเรื่อยๆ และหวังว่าจะมีการพัฒนา ให้คนกลุ่มอื่นๆ ได้ใส่ผ้าย้อมคราม และมองเห็นความสวยงามของผ้าย้อมครามมากขึ้นเรื่อยๆ จนช่วยกันรักษา สืบทอดต่อไป

ยี่สิบกว่าปีผ่านมาแล้วที่คุณทองสิริได้เริ่มต้นจัดตั้งกลุ่มทอผ้า และพัฒนาสินค้าเรื่อยมา ผลงานทุกชิ้นที่ถูกปล่อยออกมาก็ยังเต็มไปด้วยความตั้งใจเหมือนอย่างวันแรกที่ได้เริ่มต้นทำ และเป็นความภูมิใจในทุกครั้งที่ได้นำผลงานออกมาจัดแสดง และวางจำหน่ายให้คนไทยและชาวต่างชาติได้เห็นความสวยงามของภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยของคนในชุมชนจังหวัดสกลนคร

วันนี้ผ้าทุกผืนของแบรนด์ทองสิริก็ยังถูกผลิตขึ้นจากความประณีตอยู่เช่นเดิม เหมือนผ้าผืนแรกในวันที่เริ่มต้นทำ เป็นผ้าลายครามที่รวบรวมความรัก และสะท้อนภูมิปัญญาของชาวบ้านไว้ในผืนเดียว

 

หนทางสู่ความสำเร็จในแบบของ คุณทองสิริ ปุกแก้ว

1. ใจรัก ถ้าหากมีใจรัก งานยาก ซับซ้อนแค่ไหนก็ทำต่อได้

2. พัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทำผลงานให้ออกไปสู่สายตาของคนหลายกลุ่มมากขึ้น

3. ควบคุมคุณภาพการผลิตเป็นเรื่องสำคัญของการทำธุรกิจ

4. กล้าที่จะนำผลงานไปโชว์ คุณภาพ และมาตรฐานสามารถช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก

    และประสบความสำเร็จได้

5. วางแผนและปรับเปลี่ยนแผนการอยู่เสมอ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์

 

THONGSIRI INDIGO BLUE

ที่ตั้ง : 488 ม.17 ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร 47170

 

Facebook : THONGSIRI INDIGO BLUE

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย

คลิก : THONGSIRI INDIGO BLUE

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ