ในช่วงที่มนุษย์โลกยังคงทำความคุ้นชินกับสารพัด “วิถีปกติใหม่” หลายๆ สิ่งที่เคยเป็นเรื่องง่ายในชีวิตกลับกลายเป็นเรื่องที่ต้องใส่พลังลงไปอย่างมาก แม้จะเป็นกิจกรรมที่เราต้องทำกันอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วก็ตาม
THE POWER BAND นับเป็นการประกวดที่มีความคิดล้ำ! ใครๆ สำหรับการจัดงานในช่วงที่โควิดยังไม่จางเสียทีเดียว…ไม่เพียงแต่จะต้องสร้างมาตรฐานสำหรับการประกวดในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครเป็นต้นแบบให้ได้แล้ว งานนี้ยังกำหนดการทำงานระหว่างผู้ประกวดและทีมงานทุกส่วนแบบมีมาตรการเข้มงวดในการเข้าร่วมงาน สำหรับทั้งผู้เข้าประกวดและทีมงานอย่างเคร่งครัด ภายใต้มาตรการป้องกันโรคตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ขอแสดงความยินดีกับผู้ประกวดที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 13 รางวัล! มีวงที่ได้รับรางวัลไปทั้งหมด 10 วงด้วยกันจากทั่วประเทศ Thaipower.co เชื่อว่างานนี้จะมอบประสบการณ์สำคัญบทหนึ่งในชีวิตให้กับทั้ง 29 วงที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศมา แม้พวกเขาจะได้รับหรือไม่ได้รับรางวัลก็ตาม และไม่ว่าจะอย่างไร ดูเหมือนเวทีนี้ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับเวทีการประกวดดนตรีที่เกิดขึ้นในยุคนิวนอร์มอลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สถิติน่าสนใจ…ส่วนหนึ่งของความตั้งใจในการสร้างเวทีแห่งความฝัน ของคนดนตรีนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง
• THE POWER BAND รอบชิงชนะเลิศ…ใช้เวลา 4 วัน!! ตั้งแต่เช้ายันเย็น เฉพาะสำหรับบันทึกภาพการแสดงของแต่ละวงที่เข้ารอบ
• เพื่อให้รอบ Live Final Round เก็บทุกรายละเอียดสู่คนดู ซึ่งที่ใช้เวลาเกือบ 7 ชั่วโมง!! เฉพาะส่วนการแสดง…เพื่อถ่ายทอดความสนุกเข้มข้นของทั้ง 20 วง ติดตามชมย้อนหลังได้ที่ FB : King Power Thai Power พลังคนไทยและ YouTube : Kingpower Thaipower พลังคนไทย
Link : Live! Final Round: THE POWER BAND มาแล้ว!!!!!
• เวลาต่างหากอีก 1 วัน…ยังถูกใช้บันทึกส่วนความเห็นกรรมการสำหรับคอมเมนต์หลังการแสดง เพื่อให้วงนำไปพัฒนาตัวเองจากกรรมการทั้ง 5 ท่าน… พี่นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ก่อตั้ง Genie Records คุณพล-คชภัค ผลธนโชติ ผู้บริหารค่ายเพลง Boxx Music อาจารย์เช่-อัคราวิชญ์ พิริโยดม หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คุณโอ-ทฤษฎี ศรีม่วง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ และคุณฟองเบียร์-ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท มิวซิก มูฟ จำกัด
ต่างจากวันปกติที่มีการเรียนการสอนของคณะดุริยางคศิลป์….พื้นที่ประกวดในบริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ “ภูมิพลสังคีต” แห่งนี้ ช่วงวันประกวด THE POWER BAND เต็มไปด้วยบรรยากาศของหลากหลายอารมณ์จากแต่ละวงผู้เข้าประกวด ซึ่งต่างเดินทางมาจากต่างจังหวัดบ้าง หรือมุมต่างๆ ของกรุงเทพฯ บ้าง พวกเขาทุกคนจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจ ATK และอื่นๆ ตามมาตรการของพ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อเข้าร่วมงานนี้ มีทั้งความเคร่งเครียด ความสนุก และเต็มไปด้วยเสียงดนตรีจากการเตรียมความพร้อมของวงต่างๆ ก่อนขึ้นเวทีประกวดของตัวเอง เสียงทรัมเป็ตจากมุมโน้น ผสมกับเสียงขลุ่ยไม้…เครื่องเป่าเหมือนกันแต่เป็นคนละสไตล์ แถมยังผสานจังหวะเพอร์คัชชันที่ดังมาจากอีกด้านหนึ่ง
หลายคนที่ผ่อนคลายหลังจากคิวขึ้นเวทีประกวดของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ยังได้เดินซึมซับบรรยากาศของสถานที่ หลายมุมของอาคารมีความพิเศษของทั้งสถาปัตยกรรมอาคารเองหรือประติมากรรมประดับตกแต่งตามมุมต่างๆ ที่มากด้วยเรื่องราว ที่มีความหมายในตัวเอง รวมถึงแรงบันดาลใจให้กับ “ว่าที่” ศิลปิน ซึ่งที่นี่อาจเป็นคณะในฝันของเด็กเรียนดนตรีหลายๆ คนที่อยากได้มาเข้าเรียนต่อก็เป็นได้
Suggestion
เวทีแห่งความฝัน…พื้นที่แห่งโอกาสสำคัญ
THE POWER BAND การประกวดดนตรีสมัยนิยมผสมเครื่องเป่านี้ เป็นโครงการเพื่อสังคมก่อตั้งโดยหวังจะสนับสนุนศักยภาพคนไทยอย่างต่อเนื่อง จัดขึ้นเป็นปีแรกโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทยเพาเวอร์ พลังคนไทย เพื่อขยายโอกาสสู่วงกว้าง ให้ผู้ที่มีใจรักดนตรี มีความสามารถด้านดนตรีที่หลากหลาย นำไปสู่การเป็นวงดนตรีคุณภาพในอนาคต ซึ่งในที่สุดก็ได้เพชรเม็ดงามประดับวงการเพลงไทย
ผู้จัดในฐานะผู้สร้างเวทีที่เต็มไปด้วยความฝันของเยาวชนและผู้คนมากมายแห่งนี้ ตั้งเป้าหมายชัดเจนในการสร้างบุคลากรทางดนตรีที่มีศักภาพต่อไป และดำเนินการจัดประกวดดนตรีให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ภายใต้มาตรการความปลอดภัยของรัฐบาลอย่างเข้มงวด “เราต้องการสนับสนุนศักยภาพคนไทยในทุกๆ มิติ ให้ก้าวไกลไปสู่เวทีโลกได้ เราเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถทางดนตรีไม่แพ้ชาติใดในโลก จะได้ขยายโอกาสและเป็นเวทีให้กับนักดนตรีรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพด้านดนตรี เพื่อจะได้พัฒนาตนเอง และก้าวเข้าสู่ในระดับอาชีพทั้งในระดับประเทศและระดับสากลต่อไป ขอแสดงความยินดีกับทุกวงที่ได้รับรางวัลในปีนี้” คุณอภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและรักษาการ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เล็งเห็นสิ่งสำคัญดังกล่าว
ในขณะที่ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดี คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นด้วยเช่นกันว่า โครงการนี้ต้องการเน้นหนักที่ความคิดสร้างสรรค์เพื่อไปสู่ระดับโลกให้ได้
“ผมคิดว่าเอกลักษณ์ที่โดดเด่นสำหรับ โครงการ THE POWER BAND ก็คือเรามุ่งเน้นไปที่ความคิดสร้างสรรค์ ทั้งระดับมัธยมและบุคคลทั่วไป เราเปิดเป็นอิสระให้ผู้เข้าประกวดได้แสดงออกถึงเอกลักษณ์วงของเขาได้อย่างแท้จริง ซึ่งผมคิดว่าสังคมไทยของเราต้องการพื้นที่แบบนี้ ที่เยาวชนสามารถแสดงความนึกคิดของตัวเองออกมาได้โดยปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะส่งเสริมให้ทุกคนหันมาใช้ศิลปะในการแสดงออก ผมหวังว่าในอนาคต ทั้ง คิง เพาเวอร์ฯ กับมหาวิทยาลัยมหิดล จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับประเทศ เพื่อให้เราได้ไปอยู่ในสังคมโลก…สร้างเงินสร้างรายได้และเศรษฐกิจที่ดีกลับมาสู่พี่น้องประชาชนชาวไทยได้”
Suggestion
“พลัง” ความคิดสร้างสรรค์จาก “ผู้ชนะ”
กว่าจะเกิดงานนี้ขึ้นได้ เรียกว่าต้องรวมใจกันทุกภาคส่วน บุคลากรจำนวนไม่น้อยทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นทีมงานฝั่งผู้จัดเองก็ตามหรือด้านของผู้เข้าประกวดเองก็เช่นกัน การประกวดที่เกิดขึ้นในยุคนิวนอร์มอลครั้งนี้ นอกจากจะกลายเป็นการจัดแข่งดนตรีแห่งยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำคัญสำหรับทุกคนด้วย แต่ถึงจะผ่านความยากลำบากขนาดไหน ก็ไม่มีอะไรที่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเวทีแห่งนี้ได้
และเมื่อผลประกวดมาถึงที่สุด เราในฐานะคนดูบอกเลยว่าถึงผู้ชนะเลิศการประกวดในแต่ละคลาสจะมีเพียงหนึ่งเดียว แต่พวกคุณทุกวงคือ “ผู้ชนะ” ที่กล้าก้าวออกมาทำความฝันของตัวเองให้จับต้องได้!
คนดูจึงได้เห็นพลังทางด้านดนตรี ที่แต่ละวงต่าง “ปล่อยของ” กันออกมาแบบไม่มีกั๊ก ความรักในการขึ้นเวทีร่วมกันของวง ความสนุกของการเล่นดนตรีและร้องเพลงที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนึ่งเดียวอย่างกลมกลืน ทำให้นาทีของการประกวด THE POWER BAND มีเสน่ห์ สนุก สุดเหวี่ยงกันจนสะกดคนดูให้อดขยับแขนขาตามจังหวะ หรือปรบมือไปด้วยกันกับแต่ละเพลงไม่ได้…แม้ว่าจะได้ดูผ่านจอก็ตาม
“แม้จะเป็นการบันทึกเทป ตอนอยู่บนเวทีเราก็จะนึกว่ากำลังเล่นให้คนฟัง ถ้าเกิดว่าเขาเปิดมาฟัง…มาดูแล้วเขาจะรู้สึกยังไง เราใส่ใจตรงนั้น เพราะการเล่นดนตรีมันเป็นเหมือนการ express ในสิ่งที่เราอยากจะส่งไป” – วงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง รางวัลชนะเลิศ Class E ประเภทบุคคลทั่วไป
“สำหรับวงเราเรียกว่าใช้คำว่า ‘เสี้ยนเวที’ ได้เลย คือไม่ได้อยากจะแข่งแต่ว่าอยากจะเล่นมาก พวกเราไม่ได้อยากจะแข่งเท่ากับว่าเราชอบเวที อธิบายได้ว่าคล้ายๆ คนเข้าฟิตเนสทุกวันนะครับ พอฟิตเนสปิดแล้วเล่นเวทที่บ้านก็ไม่สนุกเท่ากับไปเล่นในฟิตเนส คือเล่นดนตรีคนเดียวหรือเล่นกันเอง มันก็ไม่มีความสุขเท่ากับมีคนฟัง” วงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง เผยความรู้สึกที่เป็นการแสดงในแบบที่พวกเขาได้ประสบการณ์ใหม่เช่นกัน “แม้จะเป็นการบันทึกเทปแบบนี้ก็ตาม ตอนอยู่บนเวทีเราก็จะนึกอยู่ว่าเรากำลังเล่นให้คนฟังแล้วก็นึกไปด้วยว่าถ้าเกิดว่าเขาเปิดมาฟังมาดูแล้วเขาจะรู้สึกยังไง เราใส่ใจตรงนั้น เพราะการเล่นดนตรีมันเป็นเหมือนการ express ในสิ่งที่เราอยากจะส่งไป เราก็อยากจะส่งไปถึงคนไม่ได้อยากส่งไปให้ก้อนหินต้นไม้เราต้องการผู้ฟังที่เราจะสื่อสารไปถึงอยากรู้ว่าเขาจะเข้าใจหรือเปล่า เป็นเหมือนการขัดเกลาตัวเอง…ดีท็อกซ์ตัวเองไปด้วย จริงๆ แล้วจะคิดว่าเป็นการบำบัดสำหรับพวกเราก็ได้…”
“ดีใจครับ เหมือนที่เราได้เล่นดนตรีกับเพื่อนๆ มันเป็นเรื่องระหว่างทาง พอมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จก็ดีใจ แล้วพวกเรามีความสุขที่ชีวิตหนึ่งได้ขึ้นประกวดบนเวที THE POWER BAND เพราะเป็นเวทีใหญ่ที่มอบโอกาสให้กับเด็กไทย…ถึงจะเหนื่อยแต่ก็มีความสุขครับ” – วง Sixth Floor, รางวัลชนะเลิศ Class F ระดับมัธยมศึกษา
Suggestion
เสียง “บูม” ของความสำเร็จ…เก็บไม่อยู่จริงๆ
ระหว่างที่ Thaipower.co ต่อสายพูดคุยกับผู้เข้าประกวดอีกวงที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ของคลาส F ระดับมัธยมศึกษา เด็กๆ ทั้ง สมาชิกวง Sixth Floor กำลังถูกพิธีกรของงานสัมภาษณ์ความรู้สึกออกอากาศ Live แบบสดๆ ถึงตำแหน่งรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ของเด็กหนุ่มมัธยมทั้ง 14
“ต้องชื่นชมผู้จัดที่มีการจัดการได้ดีมากๆ จนงานสามารถลุล่วงไปได้ด้วยดี” อาจารย์ผลินท์ พิชัยรัตน์ ผู้คุมวง Sixth Floor ย้อนเล่าถึงความมุ่งมั่นของวงให้เราฟัง แทรกด้วยเสียงร้องประสานเสียงแห่งความยินดีของวงเป็นแบ็กกราวด์การสนทนา “พวกเราเองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้กิจกรรมดำเนินไปได้ครับ ส่วนในเรื่องการฝึกซ้อมเราก็ต้องคอยกำชับมากกว่าปกติเพราะเด็กไม่ได้ฝึกซ้อมอยู่ที่โรงเรียนอย่างที่เราเคยทำมาตลอด ต้องซ้อมออนไลน์ เด็กก็ต้องรับผิดชอบตัวเองสูงในระดับหนึ่ง เพราะต้องซ้อมด้วยตัวเองที่บ้าน พอมาซ้อมรวมกันเรายังต้องมีมาตรการเข้มงวดเพื่อให้ทุกคนปลอดภัยที่สุดครับ”
สำคัญกว่าสิ่งไหน คือเวทีที่มอบประสบการณ์สำคัญ
จากที่ได้สัมผัสความเห็นของแต่ละวงที่งาน บอกได้เลยว่า พวกเขาต่าง “ฟิน” กันไปแล้วที่ได้มาร่วมกันแสดง และ “ปล่อยของ”…ทีเด็ดทางดนตรี ที่พวกเขามี และฝึกซ้อมกันอย่างเต็มที่ภายในเวลาที่จำกัด สิ่งเหล่านั้นได้บันทึกความรู้สึกสำหรับมิตรภาพระหว่างสมาชิกในวง ขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้เรียนรู้บทบาทสำคัญสำหรับนักดนตรีอาชีพต่อไป
Suggestion
…วงนัด 9 มา 10 ซาวด์เช็คเสร็จกินข้าวก่อน:
“การซ้อมแบบออนไลน์มันยาก เราไม่เคยซ้อมแบบนี้กันเลย แต่ก็เหมือนได้ฝึกทักษะและพัฒนาตัวเองไปด้วย คือแยกซ้อมของตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วค่อยมารวมกัน ไม่อย่างนั้นเละ เลยทำให้เรารู้ว่าทีมเวิร์กสำคัญมาก
เราไม่ได้หวังอะไรแม้แต่นิดเดียว พวกเราแค่อยากเล่นดนตรีด้วยกัน เพราะเป็นปีสุดท้ายก่อนจบที่เราจะได้อยู่ด้วยกัน ก็เล่นให้ดีที่สุด มีความสุขที่สุด ก็โอเคแล้ว มาถึงตอนนี้ทุกคนก็ยกภูเขาออกจากอกแล้ว อยากขอบคุณเพื่อนๆ ขอบคุณอาจารย์ ขอบคุณโรงเรียนที่ยังให้พื้นที่ซ้อม แม้จะมีเวลาน้อยก็ตาม…ขอบคุณเวที THE POWER BAND ที่ให้เราได้มาประกวด ผ่านเข้ามาถึงรอบนี้ จากตรงนี้ไปก็ถือเป็นโบนัสแล้ว”
…วง Rapid Cluster:
“เราพยายามทำให้ดีที่สุด มันเป็น digital footprint ที่เก็บไว้อีกสิบ…ยี่สิบปีก็ยังกลับมาดูได้ แค่ได้เข้ามาแสดงเพื่อบันทึกภาพไว้โดยมืออาชีพทุกฝ่าย พวกเราก็ว่าคุ้มแล้วนะ”
…วง RO. Mens:
“พวกเราซ้อมกันหนักมาก รวมตัวกันฝึกซ้อมยากมาก กว่าจะได้ซ้อมต้องให้ผู้ปกครองอนุญาตทางโรงเรียนถึงอนุญาตให้ซ้อม เลยรู้สึกว่าใช้เวลาน้อยแต่จริงจังมาก ทำให้รู้ว่าตัวเรามีความสามารถอะไรบ้าง ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต’ แล้วครับ เวทีนี้มีกรรมการที่ยิ่งใหญ่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปและเป็นที่รู้จักทั้งโลก การประกวดนี้น่าจะเป็นรายการที่ดีที่สุดในชีวิตตั้งแต่ที่พวกเราแข่งมา เต็มที่กับรายการนี้มากๆ แต่เราไม่ได้คาดหวังกับรางวัล…แค่ทำกันเต็มที่ สนุกกันเต็มที่ และปีหน้าจะกลับมาใหม่”
Suggestion
…Horwang Music Academy:
“The Power Band เป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่ พวกเราจึงอยากลอง อยากทำสิ่งนี้ก่อนจะเรียนจบไปและแยกย้ายกันไป…ตื่นเต้นกันมาก แต่พวกเราได้พกพลังอย่างเต็มเปี่ยมเพื่อจะไประเบิดพลังบนเวทีนี้ เรามีความแตกต่างที่เข้ากันมากจากทุกคนซึ่งมีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลายเป็น ‘เพาเวอร์’ ของเรา”
…วงภาฬ:
“ที่ได้มาแข่งขันก็นับเป็นการทำลายกำแพงของตัวเองลงแล้ว พวกเราไม่ได้ชอบการประกวดหรือการแข่งขัน แต่ถึงอย่างไร (ถึงแม้จะไม่ชนะ) เราไม่ได้หยุดแค่นี้ คือจริงๆ เราจบมัธยมแล้วแยกย้ายกันไปเรียนกันคนละที่แล้ว ไม่คิดว่าจะมารวมกันเป็นวงได้ขนาดนี้ เรายังต้องฝันให้ใหญ่ขึ้นไปอีก จะไปแตะคำว่า “ศิลปิน” ให้ได้ ไปแตะต่างประเทศให้ได้ อยากไปทัวร์นิวยอร์กมาก…”
Suggestion
…วง Yosy & Co.:
“เรามองว่าข้อดีของการจัดประกวดแบบ new normal คือการจัดการส่วนของการแสดงให้กับผู้ชมผ่าน Live ได้เหมาะสม การเล่นดนตรีสดแบบไม่มีคนดูเป็นเรื่องที่ยากมาก และการซ้อมแบบ new normal สำหรับเรา ด้วยความที่เป็นวงที่มีสมาชิกเยอะ เพราะเรานัดรวมกันได้ไม่บ่อย เราเลยต้องใช้เวลาที่ได้เจอกันครบทั้งวงให้คุ้มค่าที่สุด นั่นคือประสบการณ์สำคัญ”
…วง ASAP:
“เราอยากให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญของดนตรีมากขึ้น อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของดนตรีแค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว…สิ่งที่เราทำมาแล้วประสบความสำเร็จ ถึงจะเป็นก้าวแรกก็ภูมิใจมากค่ะ ตื้นตัน แล้วเราจะทำความฝันของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งพวกเราตั้งใจจะเป็นแบบอย่างให้กับน้องๆ ที่จะแข่งรุ่นต่อต่อไปด้วย ว่าต้องเริ่มเตรียมตัวจากอะไร แล้วก็อาจจะแชร์ประสบการณ์ให้กับวงรุ่นต่อๆ ไป”
Suggestion
…วง The Bugle Band:
“จากที่การแข่งขันเคยต้องเลื่อนไป จากที่เราพร้อม กลายเป็นต้องเริ่มใหม่หมด บางคนเรียนจบไปแล้ว กระจัดกระจายไปที่อื่น มารวมตัวกันยากมากจนเกือบจะถอดใจกันแล้ว แต่ความที่เห็นผู้จัดยังสู้ เราก็จึงสู้ ซ้อมกันอย่างลำบาก เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีมารองรับการซ้อมออนไลน์แบบพร้อมกันได้เลย แต่ในความไม่พร้อมยังมีข้อดีแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องการวางแผน สมาชิกในวงมีส่วนร่วมมากขึ้น การใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น มีความกระตือรือร้นมากขึ้น มีความอดทนเรียนรู้การแก้ไขปัญหาและใช้เวลาที่มีน้อยได้อย่างเหลือเชื่อ”
“ขอชื่นชมที่กล้าหาญจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ในบ้านเราแทบจะไม่มีเวทีการแข่งขันใหญ่ๆ ที่มีมาตรฐานอย่างนี้” อาจารย์นิสันติ์ ยกสวัสดิ์ ผู้คุมวง The Bugle Band กล่าวทิ้งท้าย “เราอยากส่งกำลังใจและความชื่นชมให้ผู้จัดที่ยังคงเวทีดีๆ ให้เด็กๆ และคนที่รักดนตรีได้มีโอกาสพัฒนา เพราะพวกเขาคืออนาคตของวงการดนตรี…”
นับเป็นการประกวดที่ไม่ง่ายเลยสำหรับช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เวทีประกวด THE POWER BAND เลือกทำในสิ่งที่ยากคือใช้วิถีการประกวดแบบออนไลน์ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนและระหว่างงานมากกว่าเวทีตามปกตินั้น น่าจะเป็นด้วยความตั้งใจที่จะเชิดชูและมีโอกาสได้สนับสนุนความฝันให้คนดนตรีได้เพิ่มพูนความสร้างสรรค์และศักยภาพทางดนตรีของตัวเองต่อไป
เช็กผลประกวด “THE POWER BAND” ประจำปี 2564 ได้ที่นี่
Class F (ระดับมัธยมศึกษา)
• รางวัลชนะเลิศ: วง Sixth Floor
โรงเรียนเทพศิรินทร์ (กรุงเทพมหานคร)…ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 120,000 บาท
• รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง: วง ASAP
โรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (นครปฐม)…ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 60,000 บาท
• รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง: วง The Bugle Band
โรงเรียนดุริยางค์ทหารบก (กรุงเทพมหานคร)…ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 30,000 บาท
• รางวัลเรียบเรียงดนตรียอดเยี่ยม: วง ASAP
โรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (นครปฐม) …ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 20,000 บาท
• รางวัลชมเชย: วงนัด 9 มา 10 ซาวด์เช็คเสร็จกินข้าวก่อน
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) (กรุงเทพมหานคร) …ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 15,000 บาท
• รางวัลชมเชย: Horwang Music Academy
โรงเรียนหอวัง (กรุงเทพมหานคร) …ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 15,000 บาท
Suggestion
Class E (บุคคลทั่วไป)
• รางวัลชนะเลิศ: วงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง นครปฐม
ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 150,000 บาท
• รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง: วงภาฬ (Paraa) เชียงใหม่
ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 80,000 บาท
• รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง: วง Yosy & Co. กรุงเทพมหานคร
ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 50,000 บาท
• รางวัลเรียบเรียงดนตรียอดเยี่ยม: วง Yosy & Co. กรุงเทพมหานคร
ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 30,000 บาท
• รางวัลเขียนเนื้อเพลงยอดเยี่ยม: วงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง นครปฐม
ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 30,000 บาท
• รางวัลชนะเลิศชมเชย: วง Go on Band กำแพงเพชร
ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 20,000 บาท
• รางวัลชนะเลิศชมเชย: วง Rapid Cluster กรุงเทพมหานคร
ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัล 20,000 บาท