Product

‘อัลฮามีนบาติก’
ศิลปะพลิ้วไหวจากความสุขบนผืนผ้า

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 24 Jun 2022
Views: 2,181

‘ผ้าบาติก’ ที่เคยรู้จักอาจทำให้รู้สึกคุ้นชินและพบเห็นลวดลายที่ดูคล้ายกันไปบ้าง ทว่า พอได้เริ่มรู้จักและได้ฟังเรื่องราวการต่อยอดลวดลายของ “อัลฮามีนบาติก” ผ้าบาติกที่มีชื่อเฉพาะแบบอิสลามจากนราธิวาส กลับทำให้รู้สึกว่าได้สัมผัสผ้าบาติกในรูปแบบใหม่ที่ไฉไลกว่าแบบที่เคยเห็นมาทั้งหมด ด้านหนึ่งของแบรนด์นี้ที่ยังมีเจตนารมณ์ต้องการรักษาการผลิตผ้าบาติกลวดลายแบบดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นคุณแม่ จนถึงวันนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 แล้ว

ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและการประยุกต์ลวดลายผ้าบาติกให้เข้ากับเทรนด์แฟชั่นที่ทันสมัยและโดนใจผู้สวมใส่ได้มากขึ้น ซึ่งวันนี้ คุณฮาฟาณี อามะ เจเนอเรชัน 2 ที่ปัจจุบันอายุเพียง 26 ปี มาช่วยไขคำตอบของการสานต่อกิจการ พร้อมสร้างลวดลายเฉพาะจนกลายเป็นผ้าบาติกที่มีเอกลักษณ์พลิ้วไหวแบบเฉพาะตัวที่ช่วยทำให้ลบภาพจำผ้าบาติกจากอดีตที่เคยเห็นมา

 

กว่า 20 ปีของอัลฮามีนบาติก

อัลฮามีนบาติกทำผ้าบาติกมาแล้วกว่า 20 ปี หรือตั้งแต่ปี 2544 โดยเริ่มต้นจากรุ่นคุณแม่ คือคุณนุสรัตน์  อามะ ชวนพี่ชายและเพื่อนคนไทยมุสลิมที่ไปเป็นช่างเขียนหรือช่างทำผ้าบาติกยังประเทศมาเลเซีย ให้กลับมาทำผ้าที่บ้านเกิดใน จ.นราธิวาสแทน ช่วงแรกเป็นการทำลวดลายแบบมลายูที่ได้รับวัฒนธรรมการแต่งกายมาจากมาเลเซีย โดยใช้ชื่อลูกชายคนโตที่เกิดมาในช่วงนั้นเป็นชื่อแบรนด์สินค้าทางร้าน เนื่องจากมีความหมายที่ดี แปลว่า “ผู้ซื่อสัตย์” อีกทั้งยังมองว่าเป็นการบ่งบอกลักษณะเฉพาะว่าผลงานน่าจะมาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดี  ถือว่ามีความแตกต่างจากบาติกของที่อื่น ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งชื่อตามสถานที่ตั้งเป็นหลัก

ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี่เอง ที่แต่ละกลุ่มผู้ทำผ้า เริ่มหาสไตล์ของตัวเองสร้างความแตกต่างเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าจากชิ้นงาน จากปลายฝีมือของช่างเขียนเทียนที่มีความเชี่ยวชาญและช่ำชองที่แตกต่างกันไป ประกอบกับเริ่มมีหน่วยงานราชการมาให้คำแนะนำเรื่องการดีไซน์ที่มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าบาติกที่สามารถเป็นได้มากกว่าผลิตภัณฑ์ชุมชน จากเดิมผลิตเป็นผ้าถุง โสร่ง หรือผ้าชุดที่มีไว้สำหรับผู้หญิง ก่อนที่จะทยอยพัฒนาเพิ่มการผลิตเป็นลายเสื้อเชิ้ตให้กับผู้ชาย หรือมีสินค้าประเภทอื่นๆ มากขึ้น

 

ดั้งเดิมต้องอนุรักษ์ แบบใหม่ก็ต้องไม่หยุดสร้างสรรค์

ปัจจุบันยังทำผ้าบาติกแบบดั้งเดิมที่ทำมาตลอดว่า 20 ปี เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่มีค่าควรอนุรักษ์ และถือเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมได้อย่างหนึ่ง ที่สำคัญคือ การรักษาอาชีพช่างเขียน (เทียน) ที่มีประสบการณ์และมากฝีมือในการใช้เทียนวาดลวดลายที่บ่งบอกความเป็นท้องถิ่น อย่างเช่น เรือกอและ นกเงือก ลายดอกไม้สีทอง ซึ่งปัจจุบันมีอายุค่อนข้างมากเป็นส่วนใหญ่ และมีการสืบทอดการเขียนสู่คนรุ่นหลังน้อยมากหรือแทบจะหาได้ยาก

“ปัจจุบันมีช่างเขียนอยู่ 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นช่างที่อยู่กับคุณแม่มาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเลย  ตอนนี้ช่างเขียนถือว่ามีน้อยและหาได้ยากมาก แต่ก็เข้าใจว่าสังคมเปลี่ยนไป เพราะส่วนใหญ่คนรุ่นหลังเมื่อเรียนจบก็ต้องการไปทำงานในองค์กรใหญ่หรือรับราชการเป็นหลัก แต่เราก็หาวิธีที่จะเก็บลวดลายที่ทำยากไว้ เช่น เรือกอและ หรือลายอื่นๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของนราธิวาสไว้ ด้วยการทำบล็อกเก็บไว้ใช้ในอนาคต หากถึงเวลาที่ไม่มีคนเขียนลายนี้ได้แล้ว”

คุณฮาฟาณี อธิบายสิ่งที่เธอตั้งมั่นและพยายามสานต่อสิ่งที่แม่ได้สร้างไว้ว่า เพื่อให้การทำผ้าบาติกยังคงดำรงอยู่ นั่นคือ อีกด้านหนึ่งก็ต้องคิดหาวิธีให้ผ้าบาติกสามารถตอบโจทย์กับคนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งเป็นเวลาพอดีประมาณกว่า 2 ปีที่แล้ว ภาครัฐได้เข้ามาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างให้ผู้ผลิตสินค้าไทยได้รู้จักกับทาง คิง เพาเวอร์ โดยต้องผ่านคัดเลือกจากการให้ข้อมูลการผลิตสินค้าที่แตกต่างและน่าสนใจเพื่อที่จะได้ไปเสนอขายบนช่องทางการจำหน่ายของทาง คิง เพาเวอร์ ซึ่งอัลฮามีนบาติกได้รับโอกาสนั้น

“จากจุดเริ่มต้นนั้น ทำให้อัลฮามีนบาติกเริ่มปรับมุมมอง เปลี่ยนแนวคิด และหาวิธีการคิดค้นการผลิตบาติกลวดลายใหม่ขึ้นมา จนในที่สุดทำให้เกิดลวดลายที่เป็นลักษณะเฉพาะของอัลฮามีนบาติกในปัจจุบัน”

 

ความพลิ้วไหวบนผืนผ้าบ่งบอกศิลปะที่มีชีวิต

เอกลักษณ์แบบเฉพาะตัวของอัลฮามีนบาติกอย่างแรก นั่นคือ ‘ลายกราฟิก’ บนเสื้อชุดปีกลำลองหรือชุดเดรสที่สามารถดูสินค้าผ่านช่องทางการขายออนไลน์ของ คิง เพาเวอร์ นี้ได้ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมากตั้งแต่เริ่มขายวันแรกจนถึงตอนนี้

เธอเล่าว่า ชุดปีกลำลองที่คาแรกเตอร์สีสันโดดเด่น ลวดลายสะบัดพลิ้วไหวนี้ แท้จริงเดิมคือชุดค้างคาว หรือชุดนอนที่เราคุ้นชินในสมัยก่อน แต่พอเราได้ทลายกรอบการผลิตผ้าบาติกแบบเดิม โดยการเปลี่ยนมุมมอง วิธีคิด และมีวิธีทำลวดลายที่แตกต่างเดิม จนในที่สุดกลายเป็นคาแรกเตอร์เฉพาะที่โดดเด่นของแบรนด์ไป

“เพราะต้องการสร้างงานและทำผ้าบาติกที่ทันสมัย สามารถตอบโจทย์ให้กับคนใส่ได้ทั่วไป หลุดจากกลุ่มเป้าหมายเดิมที่ส่วนใหญ่ลูกค้าค่อนข้างมีอายุ โดยถ้าจะให้ลดอายุกลุ่มเป้าหมายลงมาก็ต้องมีลวดลายและดีไซน์ที่ดูทันสมัย เก๋ ดูสวยแต่แพง จึงทดลองจากที่ให้ช่างลงสีผ้าบาติกแบบเดิม ได้ลองผสมสีและปาดสีไปมาบนผืนผ้าอย่างอิสระเพียงควบคุมโทนสีให้อยู่เพียงไม่กี่สี โดยลดขั้นตอนการเขียนลวดลายจากเทียนไป ปรากฏว่าสีที่ออกมาสวยงามดูพลิ้วไหวและก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า”

ดังนั้น ลายกราฟิกที่ปรากฎบนผ้าบาติกแต่ละผืนล้วนแสดงถึงการเป็นศิลปะที่มีชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะลวดลายจะออกมาพลิ้วไหวสวยงามแค่ไหนจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ของช่างลงสีเป็นหลัก ถ้าช่างรู้สึกมีความสุขมาก สีและลวดลายก็จะออกมาพลิ้วไหวสวยงาม ซึ่งลายผ้าที่ออกมาบ่งบอกระดับความสุขของช่างที่ลงมือวาดได้จริงๆ

สิ่งที่เราจะทำได้คือ ทำอย่างไรให้ช่างลงสีมีความสุขขณะทำงาน เริ่มตั้งแต่การเปิดเพลงสร้างบรรยากาศ มีขนม ชากาแฟ น้ำหวานเตรียมให้เขาพร้อม โดยระหว่างวันสามารถพักหรือนอนได้ และอยู่กันอย่างยืดหยุ่นเหมือนครอบครัวมาก ไม่มีกำหนดเวลาเข้าออกงานที่แน่นอน เนื่องจากจะกำหนดงานเป็นชิ้นต่อวันมากกว่า

“โจทย์ในการผลิตงานแต่ละชิ้น โดยเฉพาะการทำลายกราฟิกนี้ จะให้โจทย์ที่อาจดูเหมือนแคบแต่ก็กว้าง ให้แต่ละคนไปเลือก เพียงแต่คุมโทนสีหลักเอาไว้ เช่น ตอนนี้มีช่างลงสี 5 คน ซึ่งในแต่ละวัน 5 คนนี้จะได้โจทย์สีในการที่จะไปปาดสร้างสรรค์บนผ้าบาติกที่แตกต่างกันไป เช่น ส้มเหลือง เขียวแดง ซึ่งสาเหตุที่ไม่ให้โทนสีเดียวกับทุกคน ก็เพื่อไม่ให้ช่างรู้สึกกดดันหรือรู้สึกว่าต้องมาแข่งขันกันว่าลวดลายผ้าที่ออกมาของใครสวยกว่ากัน ที่สำคัญคนหนึ่งใช้คนละสีไปเลยเพื่อที่จะทำให้เขาสามารถลงสีได้อิสระตามอารมณ์ของความสุขและความรู้สึกนึกคิดของเขาได้เต็มที่”

 

กล้าทดลอง จนต่อยอดได้ด้วยเทคนิคที่แตกต่าง

เพราะการต้องมาพรีเซนต์กับทาง คิง เพาเวอร์ เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายอีกทางหนึ่ง คุณฮาฟาณี มองว่ากลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มกล้าคิด และกล้าทดลองวิธีการผลิตแบบใหม่ จนในที่สุดก็เกิดลวดลายใหม่ ‘กางเกงลายฟองทะเล’ โดยไอเดียเกิดจาก มองว่านราธิวาสมีทะเลที่สวยงามอยู่หลายหาด ทะเลมีรสชาติเค็ม ดังนั้น เกลือคือสัญลักษณ์ของความเค็ม จึงลองนำเกลือไปโรยบนผ้าบาติกที่ได้ลงสีไว้แล้ว เมื่อเกลือเกิดปฏิกิริยาคายตัวออกมาก็ทำให้เกิดลายที่ออกมาดูเหมือนเป็นฟองทะเล สุดท้ายผลจากการทดลองครั้งนี้ทำให้เกิดเป็นลวดลายบนผ้าไปในตัว โดยใช้เกลือเป็นวัตถุดิบสร้างสรรค์วิธีใหม่

ขณะเดียวกัน ได้ลองคิดพร้อมทดลองทำให้เกิดลวดลายผ้าไปในตัวแบบอีกหนึ่งวิธี นั่นคือ การใช้สีทาทับบนลายผ้าที่ช่างเขียนเทียนได้วาดไว้ ทาสีทับไปมาจนสามารถกลบลอยเทียนที่วาดไว้ทั้งหมด ซึ่งจากเดิมที่คุ้นชินลวดลายบนผ้าบาติกเป็นสีขาว แต่การใช้เทคนิควิธีนี้จะทำให้เห็นลายที่เคยลงเทียนไว้เป็นสีสันอื่นๆ แทน

อันไหนดีก็ต้องรู้จักหยิบมาเล่า

เมื่อเห็นแล้วว่า ผ้าบาติกสามารถอยู่บนสายแฟชั่นต่างๆ ได้ ถ้ารู้จักปรับเปลี่ยนวิธีคิดและออกจากกรอบเดิมๆ ก็สามารถทำให้คนทั่วไปเข้าถึงการใช้ผ้าบาติกได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยในหลายเทคนิคหรือรูปแบบการผลิตสินค้าต่างๆ ตั้งแต่สมัยคุณแม่เริ่มคิดค้นมา และเห็นว่าสามารถนำมาเป็นเอกลักษณ์ให้กับทางแบรนด์ได้ ก็พร้อมที่จะนำมาปรับให้มีสีสัน ต่อยอด และเล่าเรื่องราวให้เข้ากับความต้องการของคนในปัจจุบันมากขึ้น

คุณฮาฟาณียกตัวอย่างสินค้า ‘ชุดชาวเขาผ้าบาติก’ ที่เกิดขึ้นจากที่คุณแม่เห็นว่า เวลาคนไปเที่ยวภาคเหนือชอบซื้อเสื้อชุดชาวเขาใส่กัน จึงประยุกต์มาปรับแต่งเป็นชุดชาวเขาที่ใช้ผ้าบาติกแทน โดยช่วงแรกส่งให้กับศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และภายหลังจากนั้นก็พัฒนาต่อจนมาส่งให้กับทาง คิง เพาเวอร์ และถือเป็นสินค้าที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมาโดยตลอด

 

เลือกตลาดที่หลากหลายแต่ต้องแตกต่าง

ปัจจุบันอัลฮามีนบาติกมีลวดลายผ้ากว่า 100  ลายในหลายสินค้า แต่สิ่งหนึ่งที่ทางอัลฮามีนบาติกให้ความสำคัญคือ การดีไซน์หรือลวดลายแบบไหนที่ผลิตให้กับหน่วยงานหรือองค์กรนั้นโดยเฉพาะแล้ว จะไม่มีการผลิตส่งแบบเดียวกันไปยังที่อื่น เพราะเชื่อว่าเราควรให้ความสำคัญกับการทำการตลาดและช่องทางการจำหน่ายที่ให้ความสำคัญกับสินค้าเรา (Exclusive Brand)

ดังนั้น แบบชุดปีกลำลองหรือชุดเดรสกราฟิก ชุดชาวเขาบาติก และกางเกงลายฟองทะเล จะสามารถซื้อได้จากช่องทางออนไลน์ของ คิง เพาเวอร์ เท่านั้น ส่วนลวดลายหรือผลิตภัณฑ์อื่นก็สามารถซื้อจากการออกบูทแสดงสินค้า ทางออนไลน์ของร้านหรือหน้าร้านได้โดยตรง

“อัลฮามีนบาติกเริ่มขายกับช่องทาง คิง เพาเวอร์ ปีแรกก็เจอบททดสอบเรื่องโควิด-19 พอดี แต่ปรากฎว่ากลับได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และยังทำให้รู้สึกดีใจที่ตัวเองกล้าจะทดลองอะไรใหม่ โดยหลุดกรอบจากวิธีแบบเดิมๆ ที่อาจมีการลดขั้นตอนการทำผ้าบาติกไปบ้าง ด้วยการลดการเขียนลวดลายลง แล้วหันมาเริ่มต้นใช้วิธีปาดสีแทน แต่ก็ยังเป็นขั้นตอนหนึ่งในการทำผ้าบาติกอยู่ หรือการได้ทดลองอะไรใหม่จนสามารถสร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้กับแบรนด์ตัวเองได้” นี่คือสิ่งที่เธอบอกว่านั่นคือการตัดสินใจครั้งสำคัญ และก็รู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิด

 

เอกลักษณ์บาติกคือแฮนด์เมดที่ต้องรักษา

เพราะผ้าบาติกบ่งบอกถึงความเฉพาะที่หมายถึงงานแฮนด์เมดทุกชิ้น ถ้ามีการสั่งทำ 10 ตัวก็ต้องทำทั้งหมด 10 เฟรม โดยแต่ละชิ้นจะเป็นงานสำคัญที่มีชิ้นเดียวบนโลกนี้

“สิ่งที่พยายามทำคือการรักษาในลวดลายแบบดั้งเดิมให้คงอยู่ไป แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะต่อยอดและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา โดยหลายอย่างที่แม่ได้ทำไว้ ก็นำมาดูรายละเอียดและคิดต่อยอดดูว่า ส่วนไหนสามารถจะนำมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าแฟชั่นได้อีก โดยมั่นใจว่าตอนนี้ ถ้าจะให้นึกถึงอัลฮามีนบาติกก็ต้องนึกถึงลายกราฟิก ลายฟองน้ำทะเล และชุดชาวเขาผ้าบาติก ที่รับรองว่าไม่เหมือนใครและที่อื่นไม่มีแน่นอน”

 

เป้าหมายการเดินทางในอนาคต

ตลอดกว่า 20 ปี มานี้อัลฮามีนบาติกน่าจะเป็นที่รู้จักของคนที่ชื่นชอบงานบาติกอยู่บ้าง แต่ต้องยอมรับว่า 2 ปีที่ผ่านมาการที่มีช่องทางออนไลน์บน คิง เพาเวอร์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้แบรนด์เรามีคนรู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ ซึ่งชัดเจนแล้วว่าสินค้าของเราเป็นสินค้าแฟชั่นที่สามารถซื้อใส่ได้ตามโอกาสทั่วไปหรือในชีวิตประจำวันได้ แต่ก็มีความใฝ่ฝันในอนาคตที่อยากพัฒนาให้อัลฮามีนบาติกเป็นสินค้าพรีเมียมที่สามารถซื้อเป็นของขวัญหรือของฝากได้ เช่น ผ้าคลุม อย่างน้อยในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะพื้นที่โซนนี้ไม่ได้มีห้างสรรพสินค้าเหมือนพื้นที่อื่นๆ และถ้าฝันไปให้ไกลกว่านั้นอีกคือการได้เห็นสินค้าของเราบนห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป เพราะนั่นจะเป็นคำตอบและสร้างความภาคภูมิใจได้มากที่สุดว่า “นี่คือผ้าบาติกสินค้าแฟชั่นที่มีถิ่นกำเนิดมาจากพื้นที่นราธิวาส จังหวัดที่อยู่ในภาคใต้ของประเทศ”

อย่างไรก็ดี คุณฮาฟาณีก็ไม่ลืมที่จะมองความฝันอันใกล้สุด นั่นคือการได้เตรียมพร้อมที่จะพัฒนาลวดลายกราฟิกบนผ้าคลุมไหล่สำหรับผู้หญิง รวมถึงการทำเสื้อแบบฮาวายของผู้ชายแต่เป็นผ้าบาติกที่ใช้การปาดสีแทนลายดอกไม้ที่เราต่างคุ้นตากัน เพราะเชื่อว่าน่าจะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าผู้ชายได้มากขึ้น อีกทั้งเห็นได้ว่าปัจจุบันผู้ชายหันมาสนใจเสื้อผ้าที่เป็นเทรนด์แฟชั่นมากขึ้น

ถึงตอนนี้ก็หวังว่า ผ้าบาติกในรูปแบบใหม่ที่ปัจจุบันกลายเป็นสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ที่สามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาสของแบรนด์อัลฮามีนบาติกจะกลายเป็นแบรนด์สินค้าที่เราต่างมีอยู่ในตู้เสื้อผ้าของแต่ละคน และได้ลองสวมใส่ไม่วันใดก็วันหนึ่งในอนาคต มาร่วมเป็นกำลังใจให้กันและกันกับพลังคนไทยที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ช่วยสร้างสรรค์งานดีๆ ให้เกิดขึ้นกัน

 

AL-HAMEEN BATIK

ที่ตั้ง : ร้านอัลฮามีน บาติก 68 ถ.ตากใบ ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส 96000

 

Instagram: AL-HAMEEN BATIK

 

Facebook: AL-HAMEEN BATIK

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: AL-HAMEEN BATIK

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป–ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• อ่าวมะนาว ชายหาดที่เงียบสงบและทะเลเรียบเหมาะกับการนั่งพักผ่อนหย่อนใจ กินชมชมวิวและแชะรูป โดยมีเขาตันหยงอยู่ใกล้ๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ถ้าได้ขึ้นไปบนเขา ก็จะชมวิวเห็นอ่าวมะนาวได้ด้วย

• หาดบ้านทอน หาดที่ห่างจากสนามบินนราธิวาสในระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตร มีวิถีชุมชนชาวประมงให้สัมผัส ดูเรือกอและ สามารถนั่งกินข้าว รับลมเย็นจากชายทะเลพร้อมอาหารทะเลสดจากเรือของชาวประมงประจำวัน ราคาไม่แรง

• ด่านชายแดนไทย-มาเลเซียตากใบ วิถีชีวิตกิจการการค้าชายแดน ที่สำคัญมีตลาดผลไม้ ขนม อาหารให้ได้เลือกช้อปเลือกชิมกันได้เต็มที่

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง