หญิงสาวกระชับแคลริเน็ตในมือให้มั่น เมื่อผู้ควบคุมวงให้สัญญาณมือพร้อมไม้บาตอง เตรียมวงสำหรับเริ่มบรรเลงตามโน้ต…เพลงต่อไปของตารางซ้อมในวันนี้ เธอเพิ่งวิ่งเข้าห้องซ้อมตามมาในช่วงที่เพื่อนๆ สมาชิกในวงหลายสิบชีวิต ทั้งหมดนั่งประจำตำแหน่งและได้เริ่มต้นซ้อมกันไปแล้ว
เธอคือศิษย์เก่า…สมาชิกของ “บัวพระเกี้ยว Wind Ensemble” วงโยธวาทิตของโรงเรียนหอวัง ที่บรรดาสมาชิกศิษย์เก่ากลับมารวมตัวกันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ก็ด้วยวาระการประกวดเครื่องดนตรีครั้งสำคัญรายการหนึ่ง ซึ่งผลักดันให้ทุกวันของการเลิกงานหกโมงเย็น!! มาเข้าห้องซ้อมของวงที่เริ่มต้นทุกหกโมงเย็น!! ให้ได้
แม้เธอจะต้องเดินทางมาแบบแทบจะ “ข้ามโลก” และไม่เคยมาทันเริ่ม แต่วันซ้อมก็ไม่เคยน่าเบื่อหรือเหน็ดเหนื่อยเลย
โครงการประกวดนี้ทำให้ชีวิตประจำวันที่มีเพียงการไป-กลับ…บ้านกับที่ทำงานซ้ำๆ เหมือนหุ่นยนต์ของ โบกี้–กันต์นิษฐ์ กองเมือง “มนุษย์เงินเดือน” ในหน้าที่เออี บริษัทออร์กาไนเซอร์ มีความหมายยิ่งขึ้น เพราะทำให้เธอได้สร้างความสุขจากตัวโน้ตทั้ง 7 ด้วยแคลริเน็ตของเธออย่างมีเป้าหมาย และคืนโลกใบเดิมที่ครั้งหนึ่งเคยผูกพันในรั้วโรงเรียนและในวงดนตรี…ให้กับเธอ
“ดนตรีเป็นทั้งเพื่อนยามเหงา ยามทุกข์ ตอนไม่รู้จะทำอะไร จะคิดถึงดนตรีที่ทำให้เราพบกับโลกอีกใบหนึ่ง…” โบกี้–กันต์นิษฐ์ กองเมือง
บ้าน…จุดเริ่มต้นของความสุข
การเติบโตมาในครอบครัวที่รักในเสียงเพลง คือ การหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรักนี้ให้โบกี้ตั้งแต่ยังไม่รู้ความ
“ที่บ้านเป็นครอบครัวดนตรีค่ะ คุณพ่อชอบเล่นกีตาร์ให้ฟัง ร้องเพลงด้วยกันในครอบครัว พี่สาวก็เล่นดนตรีตั้งแต่เด็กเหมือนกัน เขาเล่นแคลริเน็ตอยู่ในวงโยธวาทิตด้วย ตอนที่พี่สาวอยู่ในวงโยธวาทิต โบกับคุณแม่ไปตามเชียร์ ทุกการแข่งขัน ไปดูซ้อม พอเห็นบ่อยเข้า เราก็เลยอยากทำให้ได้แบบนั้นบ้าง โบก็เห็นพี่เป็นไอดอล”
“พอช่วงอนุบาล แม่เริ่มให้เข้าวงดนตรีของโรงเรียน โบก็เข้าไปเล่นเลย ได้หัดเล่นคีย์บอร์ด ได้เป็นหัวหน้าวงด้วย พอขึ้นชั้นประถม มัธยมก็ได้อยู่วงโยธวาทิตเหมือนพี่สาว” การได้เริ่มเป็นสมาชิกวงโยธวาทิต ทำให้เธอได้ตกหลุมรักเครื่องเป่าเสียงนุ่มลึกอย่างแคลริเน็ตอย่างจริงจัง “โบเป็นคนชอบเครื่องดนตรีไม้ และแคลริเน็ตจะเป็นเครื่องดนตรีที่มักจะได้ยินในการ์ตูนบ่อยๆ เลยชอบฟัง และตัวเครื่องไม่ใหญ่มาก ลมเราเป่าไหว”
เมื่อล็อคเป้าหมายของตัวเองได้ เธอก็ทุ่มเทกาย ใจ และชีวิตวัยเยาว์เข้าไปเรียนรู้ ฝึกฝน และใช้เวลาพัฒนาฝีมือไปพร้อมกับเครื่องดนตรีในดวงใจชิ้นนี้ “ตอนนั้นใฝ่ฝันมากว่าจะต้องเข้าโรงเรียนหอวังและเป็นสมาชิกวงโยธวาทิตของโรงเรียนเหมือนพี่ให้ได้ แม่ก็หาครูมาสอนให้ เราก็ใช้แคลริเน็ตมาเป็นความสามารถพิเศษเพื่อเข้าสอบ แล้วก็สอบติดในที่สุด”
…ความสุขอันสดใส…
ด้วยแรงบันดาลใจจากผู้เป็นพี่สาว โบกี้จึงพิชิตเป้าหมายแรกสำเร็จ คือได้เป็นนักเรียนที่หอวังและยังเป็นสมาชิกวงโยธวาทิตได้ตามที่ตั้งใจด้วย “แคลริเน็ตคือเสียงดนตรีที่ได้ยินแล้วชอบเลย พอมาเป่าก็ซักเซส โบเหมือนพัฒนาตัวเองไปไวมาก แค่ปีเดียวจากไลน์ 4 โบขยับขึ้นไปเล่นไลน์ 1ได้ พอ ม.3 ขยับมาเป็นคอนเสิร์ตมาสเตอร์ คอยควบคุมวงได้เลย” เธอเล่าด้วยความภูมิใจ
ดูเหมือนเป็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดด แต่ที่จริงทุกสิ่งเป็นผลมาจากการฝึกซ้อมและทุ่มเทอย่างหนัก
“ปกติเลิกเรียนบ่าย 3 อยู่ซ้อมต่อ 4-5 โมงก็กลับบ้านกัน แต่โบซึ่งเป็นคนที่บ้านอยู่ไกล โรงเรียนอยู่ลาดพร้าว บ้านโบอยู่บางบัวทอง นนทบุรี ถ้ากลับเวลานั้นจะเสียเวลากับรถติดบนถนนถึงบ้าน 2-3 ทุ่ม โบเลยเลือกมาอยู่ซ้อมต่อที่โรงเรียนดีกว่า เพราะเป็นความสนุกของเราอยู่แล้ว ยิ่งช่วงเย็น ๆ จะมีรุ่นพี่ที่จบไปแล้วเข้ามาซ้อมด้วย มีโอกาสได้รับคำแนะนำต่างๆ ที่ทำให้พัฒนาการเราค่อนข้างไว”
ความสำเร็จของการทุ่มเททำให้เธอได้ยืนเป็นตัวหลักของวง ร่วมคว้าชัยชนะจากหลายการแข่งขัน จนเคยคิดว่าวันหนึ่ง อยากจะไปเรียนสายดนตรีจริงจัง โบกี้ใช้เงินเก็บส่วนตัวลงเรียนแคลริเน็ตเพิ่มเติม ก่อนที่จุดเปลี่ยนในชีวิตซึ่งทำให้เธอต้องตัดสินใจสำคัญอีกครั้งมาถึง…ในช่วงมัธยมปลาย
อาชีพนักดนตรี…นักดนตรีอาชีพ
ถึงช่วงของการเลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา นับเป็นเวลาที่เธอจะต้องขบคิดตัดสินใจเลือกอาชีพอื่นให้ตัวเอง หรือเป็นนักดนตรีอาชีพ ในขณะที่ช่วงเดียวกันนั้น พี่สาวผู้เป็น “ไอดอล” ของเธอเรียนดนตรีอย่างจริงจังแล้ว เธอตัดสินใจเรียนต่อในด้านอื่นแล้วหาโอกาสเล่นดนตรีที่ชอบต่อเอา แม้เป้าหมายจะเปลี่ยน แต่ความรักในดนตรีของเธอไม่เคยเปลี่ยน
ในขณะที่ต้องเตรียมตัวลงสนามเอนทรานซ์แข่งขันกับเด็กนักเรียนนับล้านคนทั่วประเทศ แต่เธอก็ยังไม่ทิ้งดนตรีที่รักยิ่ง “ช่วง ม.6 ตอนใกล้สอบเอนทรานซ์ เป็นปีที่หนักที่สุด บ้านไกล เราต้องอ่านหนังสือ และยังต้องซ้อมดนตรี โบเลยขอแม่ ขออาจารย์ ย้ายสำมะโนครัวมานอนในห้องซ้อมดนตรีที่โรงเรียนอยู่คนเดียวเลย ตลอดทั้งปีนั้น ซ้อมดนตรีเสร็จ ก็อ่านหนังสือต่อคนเดียวถึงเที่ยงคืน แล้วนอนในห้องซ้อมเลย เอาถุงนอนมานอน อาบน้ำในห้องซ้อมของวงโยธวาทิต ตื่นมาก็เรียนหนังสือ จนเสาร์อาทิตย์ค่อยกลับบ้าน”
…เด็กธรรมศาสตร์ ที่ยังคงเป่าแคลริเน็ต…
ทั้งหมดที่เธอทำก็เพื่อให้เวลาอย่างเต็มที่กับการเตรียมสอบ พร้อมกับเก็บเกี่ยวความสุขและความสนุกในการเล่นดนตรีไปด้วยพร้อมๆ กัน ความทุ่มเทของเธอไม่ใช่เพราะความรักในเครื่องดนตรีชิ้นนี้…แล้วจะเรียกว่าอะไร? และในที่สุดแม้เธอจะเบนเข็มไปเป็นนักศึกษาศิลปศาสตร์ รัสเซียศึกษา ก็ยังเติมเต็มความสุขด้วยการเป็นสมาชิกชมรมออร์เคสตราของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วง TUSO)
“พอเข้าปี 1 เลือกเข้าชมรมออร์เคสตรา ต้องไปออดิชัน เขาก็ให้ลองโชว์สกิลดูว่าทำอะไรได้บ้าง ก็ได้รับเลือกให้อยู่ในชมรม ช่วงปี 2 ได้เป็นหัวหน้างวงออร์เคสตราด้วย ได้แสดงคอนเสิร์ตทุกปี ปีละครั้ง โบได้พัฒนาสกิลไปอีกระดับ และยังเคยเป็นวงแบ็คอัพให้ศิลปิน 4 โพดำ อีกด้วย”
การได้เล่นในวงออร์เคสตราที่มีเครื่องสายเป็นตัวเอก แต่ความสามารถในการเป่าแคลริเน็ตบรรเลงของเธอกลับไม่ถูกกลืนหายไป “โบมีโอกาสได้โซโลแคลริเน็ตทั้งท่อนเป็นครั้งแรก ยอมรับว่าค่อนข้างยากและกดดัน ทุกคนทั้งวงต้องมารอเราซ้อมคนเดียว แต่เมื่อแสดงจบลง คอนดักเตอร์เรียกมาโชว์ตัวตอนเพลงจบ เราก็รู้สึกดีมากๆ อิ่มเอมมากที่คอนเสิร์ตนั้น เราทำได้จริงๆ ” เรียกว่าทุกสิ่งเพื่อดนตรีเธอคนนี้ทำเต็มที่ สมกับที่เธอเคยสัญญามั่นกับตัวเองไว้ว่า “ทั้งชีวิตโบจะไม่ทิ้งดนตรี แม้จะไปเรียนที่ไหน ก็จะกลับมาเล่นดนตรี”
…ความสุขไม่เคยจางหาย…
เมื่อก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานที่ฉกฉวยช่วงเวลาแห่งความเบิกบานของเธอไป การได้รับคำชวนให้กลับมารวมตัวกับเพื่อน พี่ และน้องที่รักในเสียงดนตรี ในฐานะวงบัวพระเกี้ยวแห่งหอวัง เพื่อเข้าประกวด TIWSC 2019 รุ่น CLASS A ซึ่งไม่จำกัดอายุสมาชิกของวง ซึ่งมีจำนวน 45-80 คน จึงเปรียบเสมือนการเปิดประตูให้โบกี้ได้กลับเข้ามาสู่โลกแห่งความสุขของเสียงดนตรีที่มีเป้าหมาย…อีกครั้ง
เธอกลับมาพร้อมพลังเต็มพิกัด ระดับที่ว่าการเดินทางข้ามเมือง ฝ่าการจราจรสุดแออัดในกรุงเทพฯ เพื่อมาซ้อมดนตรี ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะหยุดยั้งเธอได้ “ตอนที่พี่ศศิศ จิตรรังสรรค์ หัวหน้าวง ตำแหน่งทรัมเป็ต มาชวน โบก็ตอบรับทันทีเลย ทั้งที่ตอนนั้นระยะทางจากบ้านและที่ทำงานไปหอวังคือไกลมาก” เธอบรรยายถึงความตั้งใจของตัวเอง
“บ้านโบอยู่แถวท่าพระ แต่ไปซ้อมที่ลาดพร้าว ที่ทำงานจากราชดำริ นั่งรถเมล์ไปหอวัง ต้องขอเข้าซ้อมช้า เพราะเราเลิกงาน 6 โมง กว่าจะไปถึงก็เกือบทุ่ม ซ้อมเสร็จ 4 ทุ่ม นั่งแท็กซี่กลับบ้าน” นับเป็นการซ้อมที่โหดมากอีกครั้งในชีวิต แต่พลังของเธอคนนี้ไม่เคยหมด “การแข่งขันคือการรวมตัวของคนเก่งๆ นักดนตรีเก่งๆ ทั้งนั้นเลย เราต้องพยายามอีกเท่าหนึ่ง ระหว่างนั่งรถไปไหนก็จะหยิบโน้ตขึ้นมา เปิดเพลงใส่หู ให้ซึมซับว่าเราจะต้องใช้วิธีเป่าแบบนี้ ใช้จินตนาการ ถึงเวลาจริงเราก็ฝึกนิ้วให้เข้ากับสิ่งที่เราฟังมาทั้งวัน สำหรับโบ การเข้าใจเพลงคือทางลัดในการเล่น”
แน่นอนว่าการประกวดทำให้การซ้อมนั้น…มีเป้าหมาย ในขณะที่ช่วงเวลาแห่งการแข่งขันในฐานะสมาชิกวงบัวพระเกี้ยว คือช่วงเวลาแห่งความสุขนั่นเอง
“การเข้าแข่งขันในครั้งนั้นคือความประทับใจ ความสนุกที่ได้เจอเพื่อนเก่า บรรยากาศเก่าๆ ที่เราเคยให้ชีวิตร่วมกันมาสมัยเรียน ยอมเหนื่อยทุกอย่างเพื่อที่จะมาเจอเพื่อน พี่ และรุ่นน้อง…เหมือนได้กลับมาเจอครอบครัวของเราอีก แม้กระทั่งอดีตคู่ปรับสมัยมัธยม ได้เจออาจารย์ที่เคยสอนแต่ตอนนี้เล่นอยู่กับอีกวงหนึ่ง เจอคนเก่ง ๆ มารวมตัวกัน เป็นการแข่งขันที่เติมความสุขในทุกด้าน เป็นโอกาสที่หาได้ยากและเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก”
เธอไม่ได้หวังชัยชนะบนเวทีประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย (Thailand International Wind Symphony Competition หรือ TIWSC) โดย คิง เพาเวอร์ ไทยเพาเวอร์ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันจัดขึ้นที่ผ่านมา มากเท่ากับได้เติมเต็มความฝันให้ตัวเอง และยังเป็นการขยายพื้นที่แห่งความสุขที่รายล้อมด้วยมิตรภาพจากเพื่อนและคู่แข่งขันที่ต่างก็หลงใหลในเสียงดนตรีให้กว้างใหญ่ยิ่งขึ้นอีกด้วย
• เพลงคลาสสิกแนะนำ
เพลงบรรเลงประกอบซีรีส์เกาหลี อย่าง Memories of the Alhambra และ Crash Landing on You จะเปิดเพลงนี้ก่อนนอน ฟังเพลิน ๆ
• เพลงแบบที่ชอบฟัง
แนวเพลงดิสนีย์ เพราะมักมีท่อนแคลริเน็ตที่นุ่มและชัดมาก เช่น A Whole New World
• เพลงที่ชอบร้องคาราโอเกะ
“หนึ่งมิตรชิดใกล้” กับ “วิมานดิน” คิดว่ามาจากความชอบของพ่อแม่ สมัยเด็ก ๆ ท่านชอบพาไปนั่งริมน้ำที่มีตู้คาราโอเกะ แล้วบ้านเราก็ร้องเพลงด้วยกัน
• เพลงที่ติดอยู่ในใจ
“Gershwin Rhapsody in Blue – Opening clarinet solo” ที่มาจากซีรีส์การ์ตูน Nodame Cantabile น่าจะเรียกว่าเพลงที่ยังติดอยู่ในหัวว่าเล่นไม่สำเร็จสักทีมากกว่า เหมือนสกิลเรายังไม่สูงพอจะเล่นให้ดีได้ ฝึกมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย
• เครื่องดนตรีอื่นที่สนใจเล่น
เฟรนช์ฮอร์นและเชลโล ชอบเสียงนวล ๆ กลม ๆ และรู้สึกว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้นักดนตรี “ดูดี”
ลองฟังหนึ่งในเพลงคลาสสิกที่โบกี้ฟังประจำ คลิก