“เห็นโอ่งที่มีกล้วยติดอยู่ไหม กล้วยมาเป็นเครือเลย ปั้นแบบลอยตัว โอ่งดอกบัวก็มีดอกบัวลอยตัวออกมาเลย” คำยืนยันถึงสไตล์ของ โอ่งแดงเซรามิก หรือ บ้านโอ่งแดง แบรนด์เซรามิกของ คุณชาตรี น้อยโสภา ที่บางทีก็ไม่แน่ใจ ว่าควรจัดเข้าประเภทเครื่องตกแต่งบ้าน หรือนับว่าเป็นงานศิลปะดี
แรงบันดาลใจของเขามาจากธรรมชาติรอบๆ ตัว เก็บรายละเอียดทุกเม็ดแบบ “เหมือนจริง” แต่นำมาจัดองค์ประกอบลงบนงานเซรามิกแบบ “สร้างสรรค์” ถ้าคนที่ร่ำเรียนมาทางด้านวิชาเซรามิกมาเห็นเข้า เชื่อว่ามีงง และคงอยากถามตรงๆ ไปว่า “ปั้นแบบนี้ มันไม่ระเบิดเหรอพี่!!!” เจ้าของโอ่งแดงก็คงจะตอบยิ้มๆ “พี่ทำแบบนี้มา 20 กว่าปีแล้วนะ…”
เอ้า…ล้อมวงเข้ามา คุณชาตรีจะเล่าให้ฟัง
จากขี้ผึ้งสู่ดินเหนียว
แรกสุดนั้นคุณชาตรีเป็นช่างปั้นหุ่นขี้ผึ้ง ทำมาตั้งแต่เป็นหนุ่ม รูปคน รูปสัตว์ แนวเหมือนจริงนี่ถนัดนัก แต่วันหนึ่งก็ได้เห็นผลงานเซรามิกของโรงงานหนึ่งต้องตาโดนใจ “โอ่งใบตาล เคยได้ยินไหม เกิดอิ่มตัวกับการปั้นหุ่นขี้ผึ้ง แล้วเห็นงานที่รู้สึกทึ่งมาก ว่าทำได้ยังไง เป็นโอ่งแล้วก็ปั้นใบตาลมาหุ้มอีกที”
ข้ามจากสายงานหุ่นขี้ผึ้ง มาเป็นคนปั้นต้นแบบเซรามิก เพื่อส่งต่อให้นำไปทำแม่พิมพ์สำหรับหล่อน้ำดินอีกทีหนึ่ง เงินเดือนก็ไม่ได้มากมายหวังได้วิชาติดตัวมากกว่า ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เรียนรู้กับโรงงานนั้นราว 4 ปี จนถึงปี 2545 จึงได้ออกมาเริ่มเปิดโรงงานเซรามิกของตัวเอง ที่บ้านสวนในเขตบางบอนนี่เอง
โอ่งใบตาลแบบดั้งเดิมนั้นจะมีขนาดใหญ่ เน้นตั้งโชว์คล้ายงานศิลปะ “ตอนออกมาใหม่ๆ ก็ยังติดสไตล์แบบเดิม หลังๆ ก็พยายามเปลี่ยนแปลง แต่ยังคงมีใบตาลหรือใบไม้อะไรแบบนั้นอยู่นะ เพียงเพิ่มการใช้สอยมากขึ้น ไม่ใช่เป็นแค่โอ่งประดับอย่างเดียว คือจะเน้นให้ใช้ประโยชน์ได้ อาจเป็นโอ่งน้ำล้น เป็นกระถางต้นไม้ เป็นแจกัน ชิ้นเล็กลงกว่าเดิมเยอะ จากโอ่งขนาดประมาณ 2 เมตร เหลือขนาดเท่าที่คนยกได้สบายๆ
Suggestion
มันไม่ระเบิดเหรอ!!
ถ้าใครที่เรียนรู้วิชาเซรามิกมาบ้าง จะทราบว่างานเซรามิกไม่นิยมการปั้นชิ้นใหญ่ให้ตัน ต้องทำด้านในให้กลวง เพราะถ้าเนื้อดินหนาโอกาสแตกร้าวในขณะเผาจะสูง ยิ่งปั้นแล้วมีฟองอากาศ หรือรอยต่อที่ใช้น้ำดินประสานมีฟองอากาศ ตอนเผาในเตาอากาศจะขยายตัวแล้วชิ้นงานระเบิดแน่นอน
“ผมไม่ได้เรียนเซรามิกมา ก็เลยไม่ได้กังวลอะไรพวกนี้ ผมไม่กลัวระเบิด กล้วยก็ปั้นมาเป็นลูกเป็นเครือ ปั้นลอยตัวมาติดบนโอ่ง ดอกบัวก็ปั้นเป็นดอกมาติดกับโอ่งเลย”
แล้วจะไม่ระเบิด?!?
“ระเบิดสิครับ 10 ชิ้นเสียไป 5 ชิ้นเลย ปั้นจบไม่ใช่ว่าเสร็จ ต้องเผาไม่แตกถึงจะเรียกว่างานเสร็จ”
ใช้เวลาไปนานโข กว่าจะได้สูตรสำเร็จของตัวเอง ไม่ว่าการระวังตอนปั้นและตอนเชื่อมประสานชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ให้มีฟองอากาศ ไปถึงการตั้งอุณหภูมิการเผาที่ต่ำกว่าที่เคย แต่ใช้เวลาเผานานไปอีกเป็นเท่าตัว จนสามารถพิสูจน์ได้ว่า “มันทำได้จริงๆ นะ”
Suggestion
“ตัวจริง” ในสายตา คิง เพาเวอร์
งานโอ่งที่มีใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ หน้าตาเหมือนธรรมชาติก็กลายเป็นซิกเนเจอร์ของบ้านโอ่งแดง ตามมาด้วยกระถางติดผนัง ที่มีลักษณะเป็นกระถางที่ติดบนใบไม้อีกทีหนึ่ง เช่น ใบตาล ใบสาเก ใบพลู ใบบัว ทำมาได้เพียงปีเดียวก็เข้าไปสู่วงการ OTOP ซึ่งใช้เวลาไม่นานนักผลงานของคุณชาตรีฉายแววจนถือเป็นตัวท็อปๆ ของสินค้า OTOP ด้วยกัน
“เวลาไปงาน OTOP คนมามุงกันเต็มร้าน แต่ไม่ซื้อเพราะมันแพง ตอนนั้นคิง เพาเวอร์ก็เคยมาสั่งโอ่งชิ้นใหญ่ขนาดสิบกว่านิ้วไปขายนะครับ แต่ผมทำให้ไม่ได้ สั่งทีละ 20 ใบ ผมทำได้เดือนละ 5 ใบเอง” ทั้งเหตุผลในการผลิต และใจหนึ่งก็คิดว่าของชิ้นใหญ่ขนาดนี้ จะมีคนหิ้วขึ้นเครื่องบินไปได้อย่างไร
คุณชาตรีสังเกตเห็นว่าเวลาเผาโอ่งชิ้นใหญ่ ในเตาเผาจะมีที่ว่าง จึงปั้นงานเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่เข้าไป ยึดสไตล์ธรรมชาติ ใบไม้ ดอกไม้ อย่างที่แบรนด์ทำมาตลอด ปรากฏว่าขายง่ายขายดี จนได้มีโอกาสคุยกับคิง เพาเวอร์ อีกครั้ง
“เขามาถามว่าทำไมผมไม่ทำให้ ผมก็บอกเหตุผลไป พร้อมเสนองานชิ้นเล็กที่ลูกค้าน่าจะซื้อง่ายกว่า ซึ่งผมผลิตวันละ 10 ชิ้น ยังพอได้ ทางคิง เพาเวอร์ก็ตกลง สั่งของทีละ 7-8 แบบ อย่างน้อยแบบละ 50 ชิ้น เลยนะ” จากนั้น ถ้วย จาน ชาม ที่เลียนแบบมาจากกระทงใบตอง หรือแก้วน้ำ ถาดใส่ของ ที่เหมือนนำใบลีลาวดีมาสานกันเป็นภาชนะ ประดับด้วยดอกลีลาวดีที่ปั้นมือทุกดอก กลายเป็นชิ้นงานที่เป็นหนึ่งเดียวในโลก ถูกใจนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก
“คนที่มาจากยุโรปหรืออเมริกาจะชอบงานดิบๆ เห็นเนื้อดินเผาเลย ไม่ต้องมีสีสัน แต่ถ้าเป็นเอเชียอย่างชาวจีน หรือคนจากตะวันออกกลางจะชอบงานที่มีเคลือบสีสัน คนไทยเองก็ชอบแบบมีสีสวยๆ มากกว่าดิบๆ” การผลิตเพื่อ คิง เพาเวอร์ จึงเป็นงานหลักของโอ่งแดง คุณชาตรีเริ่มมีผู้ช่วยในโรงงานมากขึ้น มีเด็กเพาะช่างมาฝึกงานทุกปี ผลงานเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งเกิดวิกฤต Covid-19!!!
Suggestion
ศรัทธา-พาณิชย์
เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ธุรกิจที่ต้องพึ่งพานักเดินทางก็พับไปตามๆ กัน บ้านโอ่งแดงของคุณชาตรีเริ่มหันมาสนใจงานปั้นชิ้นงานที่ผู้คนศรัทธา เกี่ยวพันกับความเชื่อต่างๆ
“มีปั้นพระ พระพิฆเนศแบบลอยตัว พญานาค อะไรแบบนั้น ผมลองวางขายตามงานศิลปาชีพ ราคาไม่ได้ถูก…มีคนซื้อนะ เหมือนช่วงที่ผ่านมาทุกคนต้องการกำลังใจ ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวใจ”
โอ่งแดงเซรามิกแม้จะงานน้อยลง แต่ด้วยความอดทน ไม่ทิ้งงานฝีมือที่เชื่อมั่นว่ามีคนชื่นชอบอยู่เสมอ วันนี้ก็เริ่มมีออร์เดอร์ให้คุณชาตรีได้ขยับนิ้วปั้น ได้สร้างสรรค์งานสวยๆ สู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง
ชีวิตคนทำเซรามิกแม้จะพัวพันกับเปลวไฟที่ร้อนแรง แต่ก็ยังดูเรียบง่าย ใจเย็น ค่อยๆ ปั้นดินจากก้อนเล็กๆ จนกลายเป็นงานสวยๆ ชิ้นแล้วชิ้นเล่า “พี่ทำแบบนี้มา 20 กว่าปีแล้วนะ ไม่ได้เรียนเซรามิกมาโดยตรงหรอก พี่เรียนรู้จากประสบการณ์ทั้งนั้น…”
เรียนรู้ด้วยวิธีใดคงไม่สำคัญ เพราะผลงานต่างหากที่จะเป็นตัววัดว่า “ใคร” คือตัวจริง และ “ใคร” จะได้ก้าวต่อไป
OUNGDAENG CERAMIC
ที่ตั้ง : 8 ซอยเอกชัย 133 แยก2 ถนนเอกชัย แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพฯ 10150
Facebook: OUNGDAENG CERAMIC
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: OUNGDAENG CERAMIC
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา
ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป–ท่องเที่ยวใกล้เคียง
• บึงสวย น้ำใส @ บางบอน : ได้ภาพสวยๆ ไปอวดเพื่อนในโซเชียลมีเดียแน่นอน กับบึงใหญ่ขนาด 11 ไร่ ในวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะยามเย็นอากาศเริ่มคลายร้อน มาถ่ายภาพพระอาทิตย์อัสดง
• Zanook Wake Park : เคเบิ้ลสกีและสวนน้ำ กิจกรรมสำหรับสายแอดเวนเจอร์มีมากมาย ทั้งเคเบิ้ลสกี, เวคบอร์ด, แสตนอัพ แพดเดิ้ล บอร์ด, สวนน้ำ, ยิมมวย โยคะ เลือกกันได้ตามใจชอบ สวนสนุกทางน้ำย่านบางบอน ที่ทุกคนในครอบครัวสามารถมาสนุกด้วยกันได้
• Climb Central Bangkok : หนุ่มสาวแอ็คทีฟต้องเลิฟ หน้าผาจำลองในร่มที่ไปลองวัดใจพิชิตความสูง หรือใช้เป็นยิมออกกำลังกายก็เหมาะ ที่เด็ดๆ คือ ระบบ “Auto Belay” จะมีเครื่องที่ดึงเชือกให้เราปีนขึ้นไปเรื่อยๆ มาคนเดียวก็มันได้ แต่ถ้ามาสองคนควรลอง Top Rope Climbing ที่ให้คนหนึ่งปีนอีกคนหนึ่งควบคุมเชือก และ Lead Climbing แบบนี้ คนปีนต้องไต่ไปร้อยเชือกเองทีละจุดๆ ต้องเซียนขึ้นมาอีกระดับหนึ่งล่ะ